เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 53
ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมานี้ เชื้อไวรัส PRRS (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome) ได้กลับมาระบาดขึ้นในหลายแห่ง ส่งผลให้สุกรที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ล้มตายยกฟาร์ม
ฉะนี้ รศ.น.สพ.กิจจา อุไรรงค์ ภาควิชาเวชศาสตร์และทรัพยากรการผลิตสัตว์ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงทำวิจัยเพื่อสร้างวัคซีนฉีดควบคุมและป้องกันโรคระบาดในสุกร (PRRS) ขึ้น
รศ.น.สพ.กิจจา เปิดเผยว่า เชื้อดังกล่าวมีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ และระบบการสืบพันธุ์ โดยเชื้อดังกล่าวจะคงอยู่ในร่างกายสุกรนานมาก ซึ่งประเทศไทยนั้นพบว่าฟาร์มเลี้ยงกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ มีเชื้อ ชนิดนี้แฝงอยู่ แต่ที่ไม่แสดงอาการและสร้างความเสียหาย เป็นเพราะฟาร์มขนาดใหญ่มีระบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน มีการทำวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การระบาดจึงมักพบในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อย
สำหรับสาเหตุและปัจจัยก่อโรคนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเคลื่อนย้ายสุกรป่วย หรือสุกรที่เป็นพาหะของโรคเข้ามารวมฝูง และ การใช้พ่อพันธุ์เร่ จากหมู่บ้านต่างๆ เมื่อมีการติดเชื้อจะแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว แล้วถูกขับออกมาจากร่างกายของสุกรป่วย ทางอุจจาระปัสสาวะ ลมหายใจ น้ำเชื้อ และติดต่อไปยังสุกรตัวอื่นโดยการกิน สัมผัสโดยตรง หากเป็นแม่สุกรพันธุ์จะแท้งในช่วงท้ายการตั้งท้อง มีลูกตายแรกคลอด
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทีมวิจัยจึงได้คิดค้นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อ PRRSv ชนิด US-strain ที่คัดแยก ได้จากสุกรป่วยในประเทศไทย ชนิดเชื้อตาย มาพัฒนาทดลองใช้ควบคุมโรครองรับการผลิตในฟาร์มขนาดใหญ่ (รวมกันประมาณ 1 แสนแม่) อย่างต่อเนื่องมาแล้วไม่ ต่ำกว่า 5 ปี กับ ชนิดเชื้อเป็น ที่ได้รับการพัฒนาเพื่อรองรับการใช้ในลูกสุกร (ฉีดครั้งเดียว) ใช้ควบคุมปัญหา PRDC ที่ก่อการสูญเสียและกระทบการเติบโตช่วงอนุบาล หรือขุน ซึ่งได้พัฒนามาแล้วประมาณ 2 ปี
สำหรับขั้นตอนการทดสอบ ทีมวิจัยได้นำวัคซีนดังกล่าวไปฉีดให้สุกรทดแทน (พ่อและแม่พันธุ์) มีภูมิคุ้มสูงๆ (เน้น CMI) ต่อ PRRS ก่อนเข้าทดแทนในฝูง ป้องกันการแพร่เชื้อและป่วยจากการติดไวรัส PRRS และโรคแทรกซ้อนช่วงอุ้มท้อง ช่วงตกลูกและเลี้ยงลูก เพื่อลดความเสี่ยงต่อการระบาดช่วงเครียดหรือช่วงถูกกดภูมิคุ้มกัน เช่น กรณีมี "ชีวพิษเชื้อรา" ปนเปื้อนในอาหาร ทำให้ฝูงแม่พันธุ์เป็น stable herd ในฟาร์มเครือข่าย รวม 2-3 ครั้ง ห่างกัน 3-4 สัปดาห์
หลังการวิจัยพบว่า วัคซีนดังกล่าวให้ผลดีมากเมื่อเทียบกับการจัดการแบบ เดิม (คลุกกับสุกรอนุบาลที่แพร่เชื้อ ฉีดด้วยซีรั่มที่มี PRRSv) อีกทั้งให้ผลแน่นอนกว่า นอกจากนี้ ในการฉีดครั้งแรกควรทำให้เร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อให้มีเวลา cool down มากที่สุด ก่อนการผสม (เป็นสัด)
โดยช่วงอายุสุกรอยู่ที่ประมาณ 5 เดือน ในกรณีมีฝูงทดแทนเองในฟาร์ม และช่วงอายุประมาณ 6 เดือน ในกรณีซื้อสุกรทดแทนเข้าฟาร์ม จากนั้นอาจสุ่มตรวจสอบเพิ่มเติมด้วยวิธี PCR ซึ่งสุกรทดแทนที่ผ่านการเตรียมที่ถูกต้องจะให้ผลการตรวจเป็นลบ ซึ่งหมายความว่า โอกาสแม่แพร่เชื้อในเล้าคลอดต่ำมาก และไม่มีผลเสียต่อการผลิต อีกทั้งโอกาสที่จะมีการระบาดด้วย PRRS น้อยมาก
และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ตกลงที่จะถ่ายทอดวิธีการผลิตวัคซีนให้กับกรมปศุสัตว์ผลิต เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในกลุ่มเกษตรกรรายย่อย แต่จะได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์มันขึ้นอยู่กับการจัดการภายในฟาร์มด้วยเช่นกัน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 20 ธันวาคม 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/135315