เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 53
เมื่อน้ำที่ท่วมลดลงแล้ว กรมวิชาการเกษตรแนะเกษตรกรเร่งทำให้ดินหมาดด้วย การเซาะร่องช่วยให้ดินระบายน้ำได้ดีขึ้น แต่หากเป็นการไหลบ่าของตะกอนให้ขุดลอกดินทรายดังกล่าวออกจากพื้นที่จนถึงผิว ดินเดิมก่อน สำหรับชาวสวนผักควรเลือกพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่และคำนึงถึงความ ต้องการของตลาด ระหว่างรอดินฟื้นตัวอาจชดเชยรายได้ด้วยการปลูกไม้ดอกไม้ประดับในกระถาง เพื่อต้อนรับกับเทศกาลเฉลิมฉลองที่กำลังจะมาถึง
นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายให้กับพืชพรรณและไม้ผลเป็นวงกว้าง โดยคาดว่าจะมีพืชสวนเสียหายประมาณ 250,000 ไร่ เป็นไม้ผล 35,000 ไร่ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวนี้ในกรณีไม้ผลหากไม่เร่งระบายน้ำที่ขังอยู่ในผิวดิน หลังน้ำลดจะส่งผลให้พืชโทรม และส่งผลกระทบต่อการเติบโต นอกจากนี้ยังอาจมีเชื้อโรคหลงเหลืออยู่จากน้ำที่ไหลบ่าเข้ามาอีกด้วย
วิธีปฏิบัติหลังน้ำลดสิ่งแรกที่เกษตรกรควรทำคือ ไม่ควรกวนพื้นที่ดิน และห้ามใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าไปโดยเด็ดขาด เพราะดินที่ถูกน้ำท่วมขังนาน ๆ จะมีโครงสร้างที่ง่ายต่อการถูกทำลายเกิดการอัดแน่นได้ง่าย ซึ่งเป็นผลเสียต่อการไหลซึมของน้ำและจะไม่มีช่องว่างให้อากาศเข้าไป ดังนั้นควรรอให้ดินฟื้นฟูตัวเองสักระยะหนึ่งก่อน นอกจากนี้เกษตรกรยังควรตรวจสอบหากเป็นไม้ผล ไม้ยืนต้น ถ้ายืนต้นตายต้องรื้อถอนออก
ทั้งนี้การทิ้งระยะให้หน้าดินแห้งเองอาจทำให้ดินแห้งช้า เกษตรกรอาจช่วยเร่งการระบายน้ำด้วยการขุดร่องระบายน้ำซึ่งควรขุดให้ลึกอย่าง น้อย 30-50 เซนติ เมตร น้ำจะระบายออกจากพื้นที่ในระดับความลึกที่ไม่เกินความลึกของร่องระบายน้ำ การขุดร่องต้องขุดตามแนวลาดเทของพื้นที่ และใช้ระยะห่างระหว่างร่องประมาณ 8-12 เมตร หรือกึ่งกลางระหว่าง แถวพืชยืนต้น
หากพื้นที่ทางการเกษตรอยู่ในสภาพน้ำบ่าหลากมาท่วมพื้นที่ จะมีดินทรายถูกนำมาทับถมอยู่บนผิวดินเดิมค่อนข้างมาก ภายหลังน้ำลดต้องขุดลอกดินทรายดังกล่าวออกจากพื้นที่จนถึงผิวดินเดิม หรือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำให้ได้เพื่อให้ดินแห้งเร็วขึ้น และถือเป็นการช่วยในการเร่งกระบวนการเติมอากาศของดินได้เร็วและดีขึ้น
ในกรณีสวนผัก เมื่อน้ำลดแล้ว หากจะปลูกผักใหม่ ควรพิจารณาเลือกพืชปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ และควรคำนึงถึงความต้องการของตลาดด้วย ขณะเดียวกันต้องมีการจัดการดินให้ถูกต้อง ซึ่งการปลูกพืชอาจทำได้ 3 แบบคือ การปลูกแบบไถพรวนน้อยครั้ง โดยใช้เครื่องมือที่มีน้ำหนักเบาและกระทำหลังจากที่ดินเริ่มแห้ง ซึ่งจะเป็นการกำจัดพืชไปด้วยในตัว และลดการรบกวนดิน การปลูกแบบยกร่อง โดยใช้แรงคนเพื่อป้องกันไม่ให้ดินเกิดการอัดแน่นและการปลูกแบบไม่ไถพรวน ซึ่งวิธีนี้เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ยังเปียกชื้นอยู่
ทั้งนี้ก่อนปลูกพืช หากดินแห้งพอที่จะไถได้ ควรไถดินตากแดดประมาณ 2-3 วัน โดยใช้เครื่องมือที่มีน้ำหนักเบาหากไถไม่ได้ และดินยังมีความชื้นอยู่อาจใช้วิธีหว่านเมล็ดพันธุ์พืชแล้วกลบด้วยฟางข้าว หรือทรายบาง ๆ โดยหลังจากปลูกพืชไปแล้ว ควรมีการปฏิบัติดูแลรักษาต้นพืชโดยการใส่ปุ๋ย พ่นสารเคมีป้องกันกำจัด โรคและแมลงตามความจำเป็น หรือปฏิบัติตามคำแนะนำในการปลูกพืชแต่ละชนิด หากจำเป็นต้องใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชควรเลือกใช้สารเคมีที่ไม่ใช่ชนิด ดูดซึมและไม่มีพิษตกค้างในผลผลิต ซึ่งจะปลอดภัยกว่าการใช้สารเคมีชนิดดูดซึม
การเลือกที่จะปลูกพืชใหม่ในพื้นที่เก่า ต้องจัดทำแผนการปลูกเพื่อหลีกเลี่ยงน้ำท่วมในครั้งต่อไป หรืออาจใช้การปลูกแบบเหลื่อมเวลาและเปลี่ยนมาปลูกพืชหลาย ๆ รุ่น ระหว่างการวางแผนที่จะปลูกพืชใหม่นี้ให้มองโอกาสเรื่องของเทศกาลที่กำลังจะ มาถึง อย่างเช่น การ ปลูกไม้ดอกเพื่อรองรับกับเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน หรือวาเลนไทน์ ควรจะปลูกใส่กระถางหรือใส่ถุงเพื่อให้ง่ายต่อการยกไปประดับตกแต่ง และถือเป็นช่วงที่รอให้ดินที่ถูกน้ำท่วมได้ฟื้นฟูตัวเองโดยไม่เสียโอกาส
ทางด้านการช่วยเหลือนั้น กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมสำรองเมล็ดพันธุ์ทั้งพืชผักให้ในปริมาณพอสมควร และเตรียมคำแนะนำในการฟื้นฟูเพิ่มเติมว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร
โดยเกษตรกรสามารถติดต่อขอรับคำแนะนำได้ที่สถาบันวิจัยพืชสวน และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรทั้ง 8 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 21 ธันวาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=346&contentID=110999