เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 53
นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของไตผิดปกติหรือไตวายเรื้อรังโดยเฉพาะใน ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกปี ในแต่ละปีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยที่ไตวายเรื้อรังและต้องฟอกไตตกคนละไม่ต่ำกว่าปีละหมื่นบาท ยิ่งถ้าเรื้อรังมากจำนวนครั้งที่ต้องฟอกก็ยิ่งถี่ขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายต่อคนอาจสูงถึงปีละกว่าแสนบาท ยังไม่นับถึงเวลาที่ต้องเสียไปในการฟอกแต่ละครั้งที่ไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง ในบุคคลที่มีความเสี่ยงกับภาวะไตวายที่ยังไม่ถึงขั้นต้องฟอกไต จึงมักใช้การควบคุมหรือกำจัดอาหารโดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีนต่ำ
ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย และเป็นพืชที่นำรายได้เข้าประเทศปีละเกือบแสนล้านบาท โดยในข้าวมีกลูเตลิน (Glutelin) เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีมากในข้าว ซึ่งโปรตีนชนิดนี้จะถูกย่อยและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ขณะที่ในข้าวยังมีโปรตีนอีกชนิดหนึ่งเรียกว่าโพรลามิน (Prolamine) เป็นโปรตีนที่ถูกย่อยได้ยากจึงถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อย การบริโภคข้าวที่มีโปรตีนชนิดนี้มากแต่มีกลูเตลินต่ำ จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อภาวะไตเรื้อรัง เพื่อลดการทำงานของไตที่จะนำไปสู่การบำบัดโดยการฟอกไต ในปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นได้ตระหนักถึงเรื่องนี้จึงได้พยายามค้นคว้าวิจัย เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติดังกล่าว
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า กรมการข้าว โดยสำนักวิจัยและพัฒนาข้าว ได้ทำการวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพเฉพาะทางด้านโภชนาการ เพื่อช่วยผู้ป่วยโรคไต โดยคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ผ่านการอาบรังสีแกมม่าและฟาสนิวตรอนที่มีอมิโลสระดับต่างๆ และนำมาตรวจสอบยีนกลูเตลินจากใบข้าวและเมล็ดข้าว เพื่อให้ได้สายพันธุ์ข้าวที่มีโปรตีนชนิดที่ต้องการ โดยไม่ต้องรอเก็บเกี่ยวผลผลิต และนำมาวิเคราะห์ทั้งนี้สามารถตรวจยีนได้ตั้งแต่ระยะกล้า เน้นการลดความเสี่ยงและย่นระยะเวลาในการวิจัย โดยสามารถตรวจสอบเมล็ดข้าวที่มีอยู่ได้เลย
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 21 ธันวาคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=241556