เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 53
นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราช ดำริ เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 1/2553 ที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ได้จัดขึ้นเพื่อรับทราบความก้าวหน้าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการน้อมนำแนว พระราชดำริการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกไปส่งเสริมและขยายผลการปฏิบัติใน ปีที่ผ่านมา รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมด้านแผนงานงบประมาณรองรับการดำเนินงานโครงการฯ ในระยะต่อไป
การนี้นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงศักยภาพของหญ้าแฝก ซึ่งเป็นพืชที่จะช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายดิน และอนุรักษ์ความชุ่มชื้นไว้ในดินได้ จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินการศึกษาทดลองเกี่ยว กับคุณประโยชน์ของหญ้าแฝก เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2534
หญ้าแฝกเป็นพืชที่สามารถพบอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ มีระบบรากที่ยาวและแผ่กระจายลงไปในดินเป็นแนวดิ่ง ถ้านำมาปลูกชิดติดกันจะสามารถทำหน้าที่เปรียบเหมือนกำแพงที่มีชีวิต ส่วนข้อจำกัดที่เป็นผลดีของหญ้าแฝกก็คือ เรื่องการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งขยายพันธุ์ได้ยาก หากขยายพันธุ์และเจริญเติบโตได้เร็วก็จะกลายเป็นวัชพืชที่เป็นปัญหากับหน้า ดินเช่นเดียวกับหญ้าคา ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับพื้นที่
“การประชุมในครั้งนี้ได้พิจารณาถึงผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการพัฒนาและ รณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประจำปี 2553 และการเตรียมการเพื่อการจัดประชุมหญ้าแฝกนานาชาติ ครั้งที่ 5 (IVC-5) ในปี 2554 ซึ่งสาธารณรัฐอินเดียได้รับเป็นเจ้าภาพ ณ เมืองลัคเนาว์ ในหัวข้อ “หญ้าแฝกกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะองค์อุปถัมภ์หญ้าแฝกโลกได้พระราชานุมัติเงินสนับสนุนการจัดงาน จำนวน 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ และเงินรางวัล The King of Thailand Vetver Awards จำนวน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมเสด็จฯ ไปเป็นประธานเปิดการประชุมฯ และพระราชทานรางวัลดังกล่าวด้วย โดยจำแนกรางวัลออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่ ด้านงานศึกษาวิจัยหญ้าแฝกดีเด่น และด้านการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบหญ้าแฝกดีเด่น” นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี กล่าว
ทางด้านหม่อมหลวงจิรพันธุ์ ทวีวงศ์ รองเลขาธิการ กปร. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำนักงาน กปร. ในฐานะหน่วยงานหลักและแกนกลางในการประสานการดำเนินงานโครงการฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดงานสัมมนาด้านวิชาการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ทำให้นักวิชาการและเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานหญ้าแฝกได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และทราบถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ตลอดช่วงที่ผ่านมาได้จัดให้มีการประชุมสัมมนาหญ้าแฝกระดับประเทศ จำนวน 5 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา และได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการจัดงานสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติ จำนวน 4 ครั้ง เริ่มครั้งแรกในปี 2539 ในการนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานสัมมนาฯ ครั้งนั้น และครั้งที่ 2 ในปี 2543 ทั้งนี้ ในการจัดงานสัมมนาหญ้าแฝกนานาชาติครั้งต่อไปในครั้งที่ 5 จะมีขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมปี 2554 ณ สาธารณรัฐอินเดีย ประเทศไทยก็ได้รับเกียรติให้มีบทบาทสำคัญในการจัดงานสัมมนาครั้งนี้ด้วย
“การบริหารจัดการ การดำเนินงานพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในช่วงที่ผ่านมาได้ใช้แผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกฯ เป็นเครื่องมือดำเนินงานมาและดำเนินการมาแล้วถึง 4 แผน ซึ่งแผนแม่บทฯ ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2550-2554) กำลังจะสิ้นสุดลง และเพื่อให้การนำหญ้าแฝกมาใช้ประโยชน์ในประเทศได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่า กว้างขวาง ทางคณะกรรมการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงเห็นควรให้มีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2555-2559) ขึ้น ประกอบกับปี 2554 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2554 สำนักงาน กปร. จึงกำหนดให้มีการสัมมนา เรื่องการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 6 ขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย” หม่อมหลวงจิรพันธุ์ กล่าว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 23 ธันวาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=340&contentID=111478