'ลำไยนอกฤดู' ทางเลือกหนึ่งของชาวสวนลำไยภาคเหนือ
เมื่อวันที่ 5 มกราคม 53
'ลำไยนอกฤดู' ทางเลือกหนึ่งของชาวสวนลำไยภาคเหนือ
จากผลการศึกษาความเหมาะสมในการลงทุนผลิตลำไยนอกฤดูภาคเหนือ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรในการกระจายผลผลิตให้ออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาราคาตกต่ำและเป็นการยกระดับรายได้ของเกษตรกร
ในเรื่องนี้ นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ลำไยถือเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งของไทย ซึ่งแต่ละปีสามารถส่งออกและสร้างรายได้ให้กับประเทศ ทั้งในรูปของการส่งออกลำไยสด ลำไยอบแห้ง และผลิตภัณฑ์รวมกันปีละกว่า 5 พันล้านบาท โดยผลผลิตส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 อยู่ในภาคเหนือ แต่เมื่อถึงช่วงฤดูกาลที่ลำไยให้ผลผลิตคือ ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เกษตรกรมักประสบกับปัญหาราคาตกต่ำจนภาครัฐต้องมีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือเป็นประจำทุกปี ในขณะที่ความต้องการของตลาดจีนที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่มีเกือบตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์และงานฉลองวันชาติจีน และในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน ดังนั้น หากเกษตรกรสามารถกระจายผลผลิตให้ออกในช่วงเวลาที่ตลาดต้องการแล้ว ก็จะเป็นการช่วยแก้ปัญหาราคาลำไยตกต่ำได้อย่างยั่งยืน
ด้าน นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการ สศก. เปิดเผยถึงผลการศึกษาเบื้องต้น โดยใช้แนวคิดการวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์และการวิเคราะห์โครงการทางการเงินเพื่อศึกษาความคุ้มค่าในการผลิตลำไยนอกฤดู พบว่า เกษตรกรควรมีงบลงทุนเริ่มแรกแปลงละประมาณ 70,000-90,000 บาท (ประมาณ 5 ไร่) เพื่อใช้ในการวางระบบน้ำ การขุดบ่อน้ำบาดาล รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายต่อไร่ ในการปลูกลำไย และจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น เครื่องฉีดพ่นวัชพืชและกำจัดแมลง โดยมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาปีที่ 1-4 เฉลี่ยปีละ 3,000-4,000 บาท ปีที่ 5-10 เฉลี่ยตั้งแต่ไร่ละ 7,000- 13,000 บาท และปีที่ 11-20 เฉลี่ยตั้งแต่ไร่ละ 15,000-18,000 บาท
ซึ่งจากการวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนผลิตลำไยนอกฤดู พบว่า หากเกษตรกรแบ่งพื้นที่ 1 ไร่ เพื่อผลิตลำไยนอกฤดู จะมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ 39,690 บาท/ไร่ มีอัตราผลตอบแทนจากโครงการ ร้อยละ 16 มีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อทุน 1.25 มีระยะเวลาคืนทุน 9 ปี และเมื่อวิเคราะห์ความอ่อนไหวของโครงการ โดยกำหนดให้ราคาที่เกษตรกรขายได้ลดลงร้อยละ 10 และกำหนดให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากที่คาดการณ์ไว้ พบว่าโครงการนี้ก็ยังคงมีความเป็นไปได้ในการลงทุน ดังนั้น การลงทุนผลิตลำไยนอกฤดูของเกษตรกรถือว่ามีความคุ้มค่าในการลงทุน
และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาผลิตลำไยนอกฤดูเพิ่มขึ้น ภาครัฐควรเร่งจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ผู้ผลิตลำไยนอกฤดูในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญ เพื่อให้การส่งเสริมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนในการถ่ายทอดเทคโนโลยี การให้ความรู้ในการผลิตลำไยนอกฤดูสามารถติดตามประเมินผลในรูปแบบของโครงการได้ โดยจัดหาเงินทุนหมุนเวียนในเงื่อนไขผ่อนปรน เพื่อใช้ในการปรับปรุงและลงทุนในระบบน้ำ รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลลำไยของเกษตรกร โดยประสานกับผู้ส่งออกในการหาตลาดและกำหนดช่วงเวลาและปริมาณผลผลิตที่ต้อง การรับซื้อในแต่ละเดือนเพื่อพัฒนาไปสู่การทำสัญญาซื้อขายแบบมีข้อตกลง (Contract Farming) ตลอดจนสามารถวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่อไป
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตรระบุว่า ลำไยเป็นผลไม้ที่เป็นที่นิยมบริโภคของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ สามารถบริโภคได้ทั้งในรูปผลสด และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้หลายชนิด ผลผลิตลำไยนอกจากมีการขายในตลาดในประเทศแล้ว ยังมีการส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย
ส่วนต่าง ๆ ของลำไยมีสรรพคุณดังนี้ ใบ ใช้ต้มน้ำกินแก้โรคมาลาเรีย ริดสีดวงทวาร ไข้หวัด ดอก ใช้แก้หนองต่าง ๆ เนื้อลำไย เป็นยาบำรุงในคนที่เป็นโรคประสาทอ่อน ๆ นอนไม่หลับ รับประทานขนาด 10-15 กรัม บำรุงม้าม บำรุงหัวใจ เมล็ด ตากแห้ง บดเป็นผงใช้ทาภายนอก แก้กลากเกลื้อน แผลฝีหนอง คนจีนใช้สระผมเนื่องจากมีสารซาโนนิน ใช้ห้ามเลือดเนื่องจากมีรสฝาด รากสด ต้มกับน้ำตาลกรวด ดื่มแต่น้ำ แก้ช้ำใน รากแห้ง ต้มกับน้ำ แก้อาการวิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย แก้อาการตกขาว ขับพยาธิเส้นด้าย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 5 มกราคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=346&contentID=40811
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง