เมื่อวันที่ 29 มกราคม 53
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการส่งออกพืชผัก-ผลไม้ไปต่างประเทศจำนวนมาก และการส่งออกจะต้องมีการตรวจสอบสารเคมีตกค้าง เพราะฉะนั้นการที่เกษตรกรหันมาให้ความสนใจการใช้ชีวภัณฑ์นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะการใช้ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงศัตรูพืช ซึ่งขณะนี้เกษตรกรให้ความสนใจอย่างมาก กรมวิชาการเกษตรจึงทำการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงศัตรูพืช ให้เป็นเทคโนโลยีที่ง่ายและต้นทุนต่ำ เพื่อนำไปถ่ายทอดให้เกษตรกร
ดร.นุชนารถ ตั้งจิตสมคิด นักวิชาการโรคพืชชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานไส้เดือนฝอย สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ แบ่งผลการวิจัยออกเป็น 2 ช่องทาง คือ
1.การผลิตระดับเกษตรกรผลิตใช้เอง ต้นทุนต่ำ 4 บาทต่อถุง หรือเทียบอาหาร 1 ลิตร ผลิตไส้เดือนฝอยได้ประมาณ 300-500 ล้านตัว นำไปฉีดพ่นกำจัดแมลงได้ในพื้นที่ 0.5-1 ไร่ ขึ้นอยู่กับชนิดและจำนวนของแมลงที่ระบาด
2.เทคโนโลยีผลิตระดับโรงงานขนาดเล็ก การพัฒนาขยายผลการผลิตไส้เดือนฝอยในระดับโรงงาน โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตในอาหารเทียมชนิดแข็งกึ่งเหลว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน สามารถให้กำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 40,000-60,000 ล้านตัวต่อเดือน โดยผลิตเป็นผลิตภัณฑ์บรรจุถุงได้ 8,000-12,000 ถุงต่อเดือน ใน 1 ถุง บรรจุไส้เดือนฝอยได้จำนวน 5 ล้านตัว
สำหรับประโยชน์ที่ได้จากการใช้ไส้เดือนฝอย เกษตรกรสามารถกำจัดแมลงศัตรูพืช ประเภทหนอนใยผัก หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ หนอนด้วงหมักผัก หนอนกินใต้ผิวเปลือก ไส้เดือนฝอยสามารถกำจัดแมลงศัตรูพืชได้ผลอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันส่งผลให้เกษตรกรมีสุขภาพที่ดีขึ้น และประการสำคัญช่วยลดโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย ทำให้ขณะนี้มีประชาชนและภาคเอกชนให้ความสนใจติดต่อขอรับเทคโนโลยีเพื่อไปใช้เองและใช้ในการค้าจำนวนมาก
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 29 มกราคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=197191