ฤดูแล้งปีนี้ ปลูกพืชอะไรดี ?
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 53
ฤดูแล้งปีนี้ ปลูกพืชอะไรดี ?
ปัญหาการแย่งชิงน้ำ เพื่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งเกิดขึ้นประจำทุก ๆ ปี เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีค่อนข้างจำกัด ขณะที่ พื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวเริ่มก่อตัวปรากฏให้เห็นแล้วในหลายพื้นที่ทั้งในและนอกเขตชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้เร่งวางมาตรการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงปลายฤดู ซึ่งอาจกระทบต่อระบบการผลิต
นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงแผนส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2552/53 ว่า ปีนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดเป้าหมายส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ครอบคลุมพื้นที่รวมทั้งสิ้น 12.28 ล้านไร่ แยกเป็น ข้าวนาปรัง จำนวน 9.50 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 7.50 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 2 ล้านไร่) และพืชไร่ ผัก จำนวน 2.78 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.78 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2 ล้านไร่) อยู่ในภาคเหนือ 4.84 ล้านไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1.65 ล้านไร่ ภาคกลาง 2.35 ล้านไร่ ภาคตะวันออก 6.60 แสนไร่ ภาคตะวันตก 2.26 ล้านไร่ และภาคใต้ 4.89 แสนไร่ โดยเน้นให้สอดคล้องกับมาตรการด้านการจัดสรรน้ำ ซึ่งได้มีการวางแผนจัดสรรน้ำตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ เพื่อกระจายน้ำไปสู่พื้นที่เป้าหมายอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง สำหรับเขตสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ให้สูบน้ำตามศักยภาพน้ำต้นทุนโดยให้กลุ่มผู้ใช้น้ำเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย
เบื้องต้นคณะอนุกรรมการวางแผนและส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้ง ได้ประสานทุกจังหวัดให้เร่งชี้แจงและขอความร่วมมือเกษตรกรให้ใช้น้ำชลประทานอย่างประหยัด โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรังต้องเพาะปลูก ตามต้นทุนของแหล่งน้ำ พร้อมกำหนดพื้นที่ทำนาปรังให้ชัดเจนและมีการควบคุมกำกับอย่างเข้มงวดโดยให้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง และส่งเสริมการปลูกข้าวในพื้นที่กลุ่มผู้ใช้น้ำ ซึ่งมีกระบวนการกลุ่มในการบริหารจัดการ ทั้งยังสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงโครงการของรัฐบาล เช่น โครงการประกันรายได้
ขณะเดียวกันยังเร่งรัดการผลิตและขยายพื้นที่ปลูกพืชไร่-ผักที่มีลู่ทางการตลาดที่ดี เช่น ถั่วเขียว ถั่วลิสง ฯลฯ รวมถึงพืชทดแทนการนำเข้าและพืชอุตสาหกรรม เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพดฝักอ่อน เพื่อทดแทนการทำนาปรัง ซึ่งจะช่วยประหยัดน้ำได้ค่อนข้างมากเนื่องจากเป็นพืชอายุเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อย
สำหรับ แนวโน้มการตลาดพืชฤดูแล้ง ปี 2553 นี้ คาดว่า ราคาถั่วเหลือง ถั่วเขียว และถั่วลิสงจะอยู่ในเกณฑ์ดีใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะถั่วเหลืองคาดว่า ราคาน่าจะปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากแหล่งผลิตถั่วเหลืองในอเมริกาใต้ได้รับผล กระทบจากภัยแล้ง ส่วนข้าวนาปรังคาดว่าราคาจะยังอยู่ในเกณฑ์สูงเนื่องจากภาวะราคาข้าวในตลาด โลกมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น ประกอบกับประเทศผู้นำเข้าบางประเทศประสบปัญหาภัยธรรมชาติ จึงต้องนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนส่วนที่เสียหาย เช่น ฟิลิปปินส์ อิหร่าน และแอฟริกาใต้ เป็นต้น ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คาดว่าจะอ่อนตัวลดลงจากปีที่ผ่านมา อยู่ในระดับกิโลกรัมละ 6-6.50 บาท ข้าวโพดหวานคาดว่าราคาจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาจนถึงปรับตัวลดลง และราคาข้าวโพดฝักอ่อนจะทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา เฉลี่ยกิโลกรัมละ 3 บาท ขณะที่ความต้องการของตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นยังอยู่ในเกณฑ์ดี
การผลิตพืชฤดูแล้งปีนี้ก็ไม่น่าจะแตกต่างกับปีที่ผ่านมามากนัก หากเกษตรกรมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตโดยใช้กระบวนการเกษตรดีที่เหมาะสม คาดว่า จะช่วยให้เกษตรกรได้ผลผลิตสูงและมีความปลอดภัยและได้รับผลตอบแทนคุ้มค่าการลงทุนด้วย
“เกษตรกรที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งควรรู้จักแบ่งปัน ไม่เห็นแก่ตัว ทั้งยังต้องใช้น้ำอย่างประหยัดและใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะเกษตรกรในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาควรงดปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 จะสามารถช่วยลดปริมาณการใช้น้ำได้ค่อนข้างมาก ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงปลายฤดูแล้ง ขณะเดียวกันยังจะมีน้ำสำรองไว้สำหรับฤดูฝนที่จะถึงนี้และฤดูแล้งปีถัดไปด้วย ” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
หากมีข้อสงสัยหรือสนใจเกี่ยวกับข้อมูลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองพัฒนาการเกษตรพื้นที่เฉพาะ กรมส่งเสริมการเกษตร โทร. 0-2940-6059 หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=45892
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง