เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 53
“พระเทพ” ทรงห่วง รับสั่งกรมการข้าว เร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวลดโลกร้อน “ธีระ” เซ็นตั้งอนุจัดทำยุทธศาตร์ภาคเกษตรลดปล่อยก๊าซคาร์บอนเพื่อเตรียมป้องกันปัญหาต่างประเทศนำประเด็นปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากีดกันสินค้าการเกษตร พร้อมทุ่มงบกว่า 2 พันล้านแจกชาวนาให้ยอมทำลายนาข้าวทิ้ง กำจัดเพลี้ยกระโดด โรคเขียวเตี้ยและโรคใบหงิก “กรมชล” อย่าทำนาปรังรุ่นสอง เหตุปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในช่วงวิกฤติ
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. นายประเสริฐโกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีรับสั่งถึงกรมการข้าว เกี่ยวกับพันธุ์ข้าวลดโลกร้อน โดยการศึกษาของทั่วโลกได้มีการชี้ว่า ข้าวได้ปล่อยก๊าซมีเทนทำให้เกิดสภาวะเรือนกระจกและเกิดสถานการณ์โลกร้อน ซึ่งทางกรมได้จัดทำถวายรายงานว่าสามารถคัดสรรจากพันธุ์ข้าวของไทยที่มีกว่าหมื่นสายพันธุ์มาคัดแยกลักษณะพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ เพื่อค้นหาลักษณะพันธุกรรมเด่น หรือยีนเมกเกอร์ ที่จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงลักษณะสายพันธุ์พิเศษ เช่นพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 ที่มียีนความหอมเป็นพิเศษกว่าสายพันธุ์อื่น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ของไทยสามารถมาคัดแยกยีนและดึงยีนความหอมของข้าวหอมมะลิ 105 ออกมาได้ ซึ่งถือเป็นความสุดยอดของงานวิจัยที่ทั่วโลกให้การยอมรับมาแล้ว ซึ่งต้องสละเวลาในการทำงาน 7-10 ปีกว่าจะได้ยีนที่มีความพิเศษดังกล่าว
“ในเรื่องการค้นคว้าวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวลดโลกร้อน โดยที่ผ่านมาการศึกษาของต่างประเทศได้ระบุว่า การเพาะปลูกพืชเช่นข้าวได้มีส่วนในเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนและมีประเด็นเป็นปัญหาการปล่อยก๊าซมีเทนด้วย ซึ่งกรมการข้าวได้ทำการทดสอบในลักษณะมีการทดสอบในแปลงนาของจริง เพื่อให้ได้ผลวิจัยที่ทั่วโลกยอมรับ เนื่องจากต้องทำในกรณีนำข้าวส่งไปขายในยุโรป 3 ปีข้างหน้า จะต้องมีการระบุหน้ากระสอบข้าวสารทุกกระสอบว่ามีผลผลิตในเรื่องก๊าซคาร์บอนเท่าไหร่” นายประเสริฐ กล่าว
ด้านนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯกล่าวว่าตนได้ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร เพื่อดูแลรับผิดชอบการจัดทำยุทธศาสตร์และปฏิบัติการว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร พ.ศ. 2553-2555 ตามแผนงานมีระยะเวลา 5 ปีในการรณรงค์ลดการเผาพื้นที่การเกษตรบนพื้นที่โล่งเตียนเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อนให้ได้จำนวน 3 แสนไร่ในปี 2558 โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลเพื่อระบบการผลิตสัตว์ที่ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรปี 2554-2557
โดยทุกโครงการมีความครอบคลุมเกี่ยวกับแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตรทั้งด้านพืช สัตว์ ดิน น้ำ ทั้งหมด ทำแบบบูรณาการเพื่อนำตัวชี้วัดข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสู่การพัฒนา ให้ได้องค์ความรู้เพื่อลดการปล่อยก๊าซในภาคการเกษตรอย่างเป็นระบบให้สอดคล้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยจะนำไปใช้ประโยชน์ในการเจรจากับต่างประเทศได้อย่างเป็นมาตรฐานในการผลิต การค้าที่รองรับการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในอนาคต
รมว.เกษตรฯ กล่าวต่อถึงมาตรการและแนวทางช่วยเหลือชาวนาในพื้นที่ 11 จังหวัดภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างที่ได้ทำลายนาข้าวได้รับความเสียหายอย่างสิ้นเชิงจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ยและโรคใบหงิกว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังพบการแพร่ระบาดและได้ทำลายนาข้าว 6.7 แสนไร่ โดยรูปแบบการช่วยเหลือแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ 1. การช่วยเหลือเป็นเงินสด ในกรณีต้องไถกลบต้นข้าวเพราะมีการเสียหายรุนแรงเพื่อทำลายแหล่งของโรค จะช่วยเหลือเป็นเงินไร่ละ 2,065 บาท 2. รัฐจะเข้าไปดำเนินการไถกลบในพื้นที่ระบาดทั้งหมด 6.7 แสนไร่ ค่าใช้จ่ายไร่ละ 400 บาท ใช้งบประมาณ 333.2 ล้านบาท 3. สนับสนุนเมล็ดข้าวพันธุ์ต้านทานโรคแจกฟรีไร่ละ 15 กิโลกรัมเป็นเงินไร่ละ 315 บาท และ 4. ชาวนาที่ยอมเข้าร่วมโครงการได้พักชำระหนี้เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยรัฐบาลจะจ่ายดอกเบี้ยให้ ซึ่งงบประมาณที่ใช้ในโครงการทั้งหมดคิดเป็นไร่ละ 2,780 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 1,862 ล้านบาท
นอกจากนี้จะต้องวางมาตรการป้องกันเพลี้ยระบาดต่อเนื่อง เพราะสถิติของการเกิดโรคนี้อยู่ในช่วง 10 ปีจะระบาดรุนแรงครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนี้ทำให้ผลิตข้าวได้รับความเสียหาย 10 ล้านตัน จึงต้องวางโครงการป้องกันการเกิดโรคและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกษตรกรเพื่อไม่ให้เกิดโรคอย่างยั่งยืนโดยใช้งบประมาณอีก 157 ล้านบาท
ขณะที่ นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุม ผู้อำนวยการสำนักชลประทาน 17 เขตทั่วประเทศ เพื่อวางมาตรการบริหารน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ว่า ขอเตือนให้เกษตรกรงดทำนาปรังรุ่น 2 อย่างเด็ดขาด เพราะขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในช่วงวิกฤติ จำเป็น ที่จะต้องจัดสรรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งกรมชลฯวางลำดับความสำคัญไว้ที่ 1. เพื่อการอุปโภคบริโภค 2. เพื่อรักษาระบบนิเวศ 3. เพื่อการเกษตรและ 4. เพื่ออุตสาหกรรม ดังนั้นปริมาณน้ำทั้งหมดในปีซึ่งมี 51,987 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 71% ของความจุทั้งหมด ซึ่งน้อยกว่าปี 52 ประมาณ 8 พันล้านบาท และปริมาณน้ำในปีนี้มีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็วเพราะมีการใช้เพิ่มประมาณ 23% เพราะฉะนั้นในปีนี้จะต้องพยายามจำกัดการปลูกข้าวนาปรังไม่ให้เกิน 9 ล้านไร่ ในพื้นที่ชลประทานเท่านั้น
“กรมชลฯยืนยันว่าไม่ปล่อยน้ำให้กับพื้นที่ปลูกนาปรังรุ่น 2 อย่างแน่นอน เพราะมีบทเรียนจากปี 36 มาแล้วที่น้ำต้นทุนเหลือน้อย แต่กรมชลฯยอมปล่อยน้ำให้นาปรังรุ่น 2 เพราะมีการประท้วงทำให้ในปี 37 น้ำใน 2 เขื่อนหลักแห้งขอดติดก้นอ่างส่งผลให้น้ำทะเลหนุนสูงถึง จ.พระนคร ศรีอยุธยาเพราะไม่มีน้ำไล่ ส่งผลต่อระบบนิเวศและการผลิตประปาใน กทม.ทั้งหมด” นายชลิต กล่าว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=339&contentID=46017