ปรับปรุงพันธุ์ 'พุทธรักษา' ด้วยการฉายรังสี
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 53
ปรับปรุงพันธุ์ 'พุทธรักษา' ด้วยการฉายรังสี
ผู้ที่ผ่านเข้ามาในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จะพบความงดงามของดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ชูช่อดอกสีต่าง ๆ อยู่บนเกาะกลางถนน มีทั้ง สีแดงเข้ม แดงสด ส้มเข้ม ส้มอ่อน เหลืองเข้ม เหลืองอ่อน ชมพูเข้ม จนกระทั่งสีขาวครีม สีปูนแห้ง สีเหลืองทอง กระแดง กระเหลือง กระเหลืองปื้นแดง ที่กระจายอยู่บนพื้นกลีบดอกสีเหลืองหรือขาว สีแดงขลิบรอบกลีบดอกด้วยสีเหลืองทอง หรือกลีบดอกสีแสดสดใส มีขนาดช่อดอกตั้งแต่เล็ก กลางและใหญ่ มีรูปร่างใบ ขนาดใบและสีสันลวดลายบนใบหลากหลายแบบ มีสีใบตั้งแต่สีแดงเข้มปนม่วงแดง ไปจนถึงใบสีแดงปนเขียว ใบด่างลายเขียว-ขาว เขียวลายเหลือง เขียวอ่อน จนกระทั่งเขียวเข้ม ไม้ดอกที่มีลักษณะดังกล่าวนี้มีนามที่ไพเราะและเป็นมงคลว่า “พุทธรักษา”
พุทธรักษา เป็นพืชที่คนไทยนิยมปลูก ชื่อภาษาไทยของพุทธรักษานั้นไม่มีบันทึกไว้ว่าใครเป็นผู้ตั้ง หลวงบุเรศบำรุงการได้เขียนเกี่ยวกับพุทธรักษาไว้ว่าเป็นพืชดั้งเดิมของอินเดีย มีชื่อว่า พุทธสรณะ แปลว่าพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ชาวพุทธในอินเดียสมัยก่อนใช้เมล็ดพุทธรักษาหรือเมล็ดพุทธสรณะ มาเจาะรูร้อยเป็นพวงลูกประคำใช้ประกอบการสวดมนต์ สันนิษฐานว่าชาวอินเดียที่เข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนาในประเทศไทยคงนำพุทธรักษามายังประเทศไทยด้วย เพราะชื่อยังคงเกือบเหมือนเดิมคือพุทธสรณะเป็นพุทธรักษา
พุทธรักษาเป็นพรรณไม้ที่มีชื่อเป็นสิริมงคลและมีความหมายที่ดีมาก เพราะหมายถึงการมีพระเจ้าหรือพระพุทธเจ้าคอยปกป้องคุ้มครองรักษาให้อยู่เย็นเป็นสุข
พุทธรักษา เป็นพรรณไม้ล้มลุกขึ้นเป็นกอ มีอายุหลายปี เนื้ออ่อนอวบน้ำ ลำต้นมีความสูงหลายระดับ ตั้งแต่ต้นเตี้ยจนกระทั่งสูงเป็นเมตร แล้วแต่พันธุ์ มีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่าเหง้า มีการเจริญเติบโตโดยแตกหน่อเป็นกอคล้ายกับกล้วย ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงเวียนสลับกันรอบลำ สีของแผ่นใบมีตั้งแต่สีเขียวเข้ม เขียวอ่อน แดง น้ำตาล น้ำตาลแดง หรือลายสลับสีซึ่งจัดเป็นพวกใบด่าง ซึ่งแตกต่างกันไปตามลักษณะประจำพันธุ์ ออกดอกเป็นช่อตรงส่วนยอดของลำต้น ดอกมีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ขึ้นอยู่กับพันธุ์ ผล มีลักษณะกลมมีหนามอ่อน ๆ สีเขียว เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม ภายในมีเมล็ดแข็งรูปทรงกลมจำนวนหลายเมล็ด ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด ซึ่งเกิดจากการผสมตัวเองหรือผสมข้าม หรือโดยการแยกหน่อ พุทธรักษาหลายพันธุ์ไม่ติดเมล็ด จึงไม่สามารถขยายพันธุ์โดยเมล็ด ต้องใช้วิธีการแยกหน่อหรือการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเข้าช่วย
พุทธรักษาที่มีการติดเมล็ดในธรรมชาติได้ดี สามารถใช้วิธีการผสมข้ามพันธุ์เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ได้ จึงสามารถสร้างลูกผสมได้โดยใช้แหล่งพันธุกรรมที่มีอยู่ในธรรมชาติ แต่พวกที่มีดอกขนาดใหญ่มักมีปัญหาเรื่องการเป็นหมันสูง ไม่ติดเมล็ด การได้พันธุ์ใหม่ไม่สามารถทำได้จากการผสมพันธุ์ มีทางเดียวที่จะได้พันธุ์ใหม่คือคอยให้เกิดการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาแต่เกิดในอัตราที่ต่ำและใช้ระยะเวลานานกว่าจะได้พันธุ์ใหม่ออกมา การที่จะทำให้มีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเกิดขึ้นในอัตราที่สูงจึงต้องนำเอาเทคนิคการเหนี่ยวนำให้กลายพันธุ์เข้ามาช่วย และสิ่งที่เหนี่ยวนำให้เกิดการกลายพันธุ์ที่ดีที่สุดของพุทธรักษาก็คือรังสีแกมมา ศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันปรับปรุงพันธุ์พุทธรักษาโดยการเหนี่ยวนำให้เกิดการกลายพันธุ์ด้วยการฉายรังสีแกมมา ทำให้ได้พุทธรักษาพันธุ์ใหม่ (พันธุ์กลาย) ที่มีลักษณะแปลกใหม่ สวยงาม แตกต่างไปจากพันธุ์เดิมหลากหลายพันธุ์ โดยนำเหง้าและหน่อพุทธรักษาเข้าฉายรังสีแกมมา ด้วยเครื่องฉายรังสีแกมมา ในปริมาณ 15-30 เกรย์
จากนั้นนำพุทธรักษาที่ฉายรังสีแล้วไปปลูก เมื่อพุทธรักษามีการสร้างหน่อใหม่และออกดอก ตรวจสอบลักษณะที่เปลี่ยนแปลงหรือกลายไปจากเดิม แยกต้นกลายออกมาปลูก เพื่อให้เกิดหน่อใหม่ หากหน่อใหม่ยังมีลักษณะกลายตามที่ตรวจพบ ก็จะได้พันธุ์ใหม่ที่คงตัวและขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนต่อไปได้ เป็นประโยชน์ในทางสันติอย่างหนึ่งของการนำพลังงานนิวเคลียร์หรือรังสีมาใช้ ในการปรับปรุงพันธุ์พืช
ปัจจุบันได้ขอขึ้นทะเบียนพันธุ์พืช ไว้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้ว จำนวน 37 พันธุ์ ในจำนวนพันธุ์ใหม่ที่คัดได้ มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะต่าง ๆ หลายรูปแบบ ได้แก่ สีดอก รูปทรงดอก ขนาดดอก ความหนาของกลีบดอก สีใบ รูปร่างใบ ความหนาใบ ตลอดจนความสูงของต้น
ผู้สนใจสอบถามได้ที่ ศูนย์บริการฉายรังสีแกมมาและวิจัยนิวเคลียร์เทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน โทร. 0-2942-8652.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=347&contentID=46295
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง