หน้าแรก > ข่าวเกษตรประจำวัน
กรมประมงเตือนระวัง 'ไอเอ็มเอ็น' โรคระบาดร้ายแรงในกุ้งทะเล
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 53
กรมประมงเตือนระวัง 'ไอเอ็มเอ็น' โรคระบาดร้ายแรงในกุ้งทะเล
ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดอย่างรุนแรงของโรคกุ้งทะเลในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งของประเทศอินโดนีเซียอย่างร้ายแรง ทำให้ผลผลิตกุ้งในปีที่ผ่านมาลดลงประมาณ 40% โดย
โรคไอเอ็มเอ็นในกุ้งยังคงเป็นโรคระบาดที่ยังไม่สามารถหาวิธีที่จะควบคุมและหยุดยั้งการระบาดได้อย่างถาวร มีการแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางในกุ้งขาว กุ้งฟ้า และกุ้งกุลาดำ เนื่องจากเชื้อตัวนี้สามารถแฝงตัวอยู่ในตัวกุ้งที่หายป่วย หรือกุ้งที่หายป่วย ซึ่งยังคงมีสภาพเป็นพาหะของโรคอาจ ทำให้เกิดการระบาดของโรคขึ้นอีกครั้ง หากมีการติดเชื้อแล้วจะมีอัตราการตายอยู่ที่ 30-70% เชื้อตัวนี้สามารถมีชีวิตอยู่นอกตัวกุ้งหรือพาหะได้นาน อีกทั้งโรคไอเอ็มเอ็นยังเป็นโรคที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ ประกาศว่าเป็นโรคระบาดในสัตว์น้ำ ที่ต้องมีการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง
อธิบดีกรมประมงเปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า กุ้งที่เป็นโรคนี้จะมีอาการที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน คือ กินอาหารน้อยลง เซลล์กล้ามเนื้อบริเวณท้องและหางตาย ทำให้เนื้อกลายเป็นสีขาวขุ่น ต่อจากนั้นบริเวณเปลือกบางส่วน และกล้ามเนื้อก็จะกลายเป็นสีแดง ขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในสถานะปลอดจากโรคไอเอ็มเอ็น แต่ก็จะประมาทไม่ได้ ดังนั้นกรมประมงจึงจัดเตรียมมาตรการรับมือกับปัญหาดังกล่าวในเบื้องต้นเป็น 2 ระยะ คือ เตรียมออกประกาศให้ผู้ประกอบการที่จะนำเข้ากุ้งและสินค้ากุ้งจากต่างประเทศ ต้องตรวจสอบแหล่งผลิตของสินค้าก่อนนำเข้า โดยต้องแนบใบรับรองสุขภาพสัตว์น้ำ ซึ่งระบุว่าปราศจากโรคไอเอ็มเอ็น และประสานกับกรมปศุสัตว์เพื่อออกประกาศโรคไอเอ็มเอ็น เป็น “โรคระบาด” ตามกฎหมายโรคระบาดสัตว์ เพื่อจะได้สามารถดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ต่อไป
“กรมประมงมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ดังกล่าว และอยากให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเฝ้าระวังอย่างรัดกุม โดยกรมประมงจะเป็นหน่วยงานหลักในการเร่งประชาสัมพันธ์แนวทางการรับมือกับปัญหาโรคระบาดดังกล่าว ขอให้ทั้งภาคธุรกิจการ ส่งออกและภาคเกษตรกรรมให้ความร่วมมือ กันตรวจสอบแหล่งที่มาว่ามาจากแหล่งที่ปลอดเชื้อ สังเกตอาการของกุ้งที่พบและใช้ความระมัดระวังในการเคลื่อนย้ายกุ้งและผลิตภัณฑ์ หากพบว่าฟาร์มใดมีกุ้งที่มีอาการดังกล่าว อย่าได้ตื่นตระหนก เนื่องจากอาการกล้ามเนื้อขาวอาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ ขอให้แจ้งศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งที่ใกล้เคียงเข้าตรวจสอบ เพื่อสุ่มตัวอย่างไปตรวจสอบโดยเร็วที่สุด และให้งดให้อาหาร ห้ามถ่ายน้ำ และเคลื่อนย้ายกุ้ง ในระหว่างการรอผลจากห้องปฏิบัติการ หรือติดต่อสถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำชายฝั่ง โทรศัพท์ 0-7433-4516-8 โทรสาร 0-7433-4515” ดร.สมหญิง กล่าว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=339&contentID=46501
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง