ปลูกฝรั่งไต้หวันแบบประณีตในไทย
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 53
ปลูกฝรั่งไต้หวันแบบประณีตในไทย
มีเกษตรกรไทยเป็นจำนวนมากยังไม่ทราบว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2513 ทางไต้หวันได้มีการนำฝรั่งจากประเทศไทยซึ่งมีขนาดผลใหญ่ เนื้อแน่นและกรอบไปปลูกได้ผลผลิตเป็นที่ชื่นชอบของคนไต้หวันในขณะนั้น เวลาผ่านไปไต้หวันได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ฝรั่งเรื่อยมาโดยเน้นความกรอบอร่อยของเนื้อ มีเมล็ดน้อยและนิ่ม ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาเริ่มมีเกษตรกรไทยนำพันธุ์ฝรั่งจากไต้หวันมาปลูกจนประสบผลสำเร็จในบ้านเราและที่รู้จักกันดีคือ
พันธุ์เจินจู ซึ่งมีเมล็ดนิ่มและรสชาติอร่อย เริ่มมีเกษตรกรไทยขหยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้นในขณะนี้
ความจริงแล้ว “ฝรั่ง” จัดเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารสูงมากชนิดหนึ่งและจัดเป็นผลไม้ที่ปลูกง่าย และสร้างรายได้เร็ว ปลูกไปเพียงไม่กี่เดือนก็เริ่มให้ผลผลิตนับเป็นไม้ผลที่ให้ผลตอบแทนเร็วมากชนิดหนึ่ง อีกทั้งผู้บริโภคหาซื้อบริโภคได้ในราคาที่ไม่สูงนัก แต่สิ่งหนึ่งที่เกษตรกรไทยที่ปลูกฝรั่งไม่ได้สนใจในเรื่องของความประณีตในการจัดการสวน เช่น การห่อผลฝรั่งมีหลายสวนใช้เพียงถุงหิ้วพลาสติกธรรมดา บางรายอาจจะใช้ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์และห่อทับด้วยถุงหิ้วพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง ฯลฯ
แต่ที่ไต้หวันไม่ว่าจะเป็นสวนเล็กหรือสวนใหญ่จะมีความประณีตในการห่อผลฝรั่งมาก เริ่มแรกจากการปลิดผลทิ้งบ้างให้เหลือกิ่งละไม่กี่ผล เมื่อผลมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับส้มเขียวหวานจะใช้ตาข่ายโฟมห่อที่ผลก่อนเป็นลำดับแรกและห่อตามด้วยถุงพลาสติกบางใสและเหนียว สังเกตได้ว่าถุงพลาสติกที่เกษตรกรไต้หวันใช้จะบางมาก และสามารถมองทะลุเห็นผลภายในอย่างชัดเจนเพื่อสะดวกต่อการเก็บเกี่ยว
นอกจาก
ฝรั่งพันธุ์เจินจูที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น ปัจจุบันได้มีฝรั่งไต้หวันอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จ.พิจิตร ได้กิ่งพันธุ์จากไต้หวันมาปลูกที่ จ.พิจิตร เป็นกิ่งประเภทเสียบยอดมีรากแก้วจำนวน 2 ต้น (การขยายพันธุ์ฝรั่งในบ้านเราเกือบทั้งหมดจะใช้วิธีการตอนกิ่ง) และมีชื่อพันธุ์ที่ติดมากับต้นว่า “ฮ่องเต้” เริ่มปลูกฝรั่งตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552 มาจนถึงขณะนี้เริ่มเห็นผลผลิตแล้วซึ่งได้พบความแตกต่างจากฝรั่งไต้หวันสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ปลูกในบ้านเรา ตรงที่รูปทรงผลจะเป็นทรงกระบอกสี่เหลี่ยม เมื่อผลเจริญเติบโตเต็มที่มีน้ำหนักผลไม่ต่ำกว่า 500 กรัม เนื้อมีรสชาติหวานกรอบ เมล็ดน้อยมากและนิ่ม ที่สำคัญเป็นพันธุ์ที่ออกดอกและติดผลง่ายให้ผลผลิตดี
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการพัฒนาสายพันธุ์ฝรั่งของเกษตรกรไทยส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นในเรื่องของสายพันธุ์ที่ไม่มีเมล็ด ซึ่งหลายคนยังไม่ทราบว่าการปลูกฝรั่งไร้เมล็ดมักจะพบปัญหาในเรื่องของการติดผลซึ่งส่วนใหญ่ติดผลน้อยมากและรสชาติไม่อร่อยเท่าที่ควร ทำให้การพัฒนาการปลูกฝรั่งในประเทศไทยไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=568&contentID=46706
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง