ระบบ 'คอนแทรคฟาร์ม' กับเคล็ดลับความสำเร็จ
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 53
ระบบ 'คอนแทรคฟาร์ม' กับเคล็ดลับความสำเร็จ
"ตลาดข้อตกลง” หรือ “Contract Farming” ซึ่งในประเทศไทยทำกันมานานกว่า 30 ปี ตามแนวนโยบายของกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้การจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเป็นธรรม เกษตรกรมีรายได้แน่นอนจากการจำหน่ายผลิตผลด้านการเกษตร อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาความเสี่ยงในราคาผลิตผลการเกษตรในอนาคต
การซื้อขายสินค้าเกษตรระหว่างเกษตรกร กับโรงงานแปรรูปส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบของสัญญาข้อตกลง ซึ่งธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นพืช หรือปศุสัตว์ โดยเฉพาะธุรกิจการเกษตรจะมีการนำเอาระบบตลาดข้อตกลงมาบริหาร เนื่องจากเป็นทางเลือกที่เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้เพิ่มขึ้น และตรงกับความต้องการที่แท้จริง ถือเป็นการลดขั้นตอนการตลาด และช่วยประกันรายได้ที่แน่นอนจากการขายด้วย ขณะเดียวกันผู้รับซื้อก็ได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพตามต้องการ
ศักดิ์ดา จังพานิช อดีตหนุ่มโรงงานวัย 34 ปี อยู่บ้านเลขที่ 117 หมู่ 4 ต.โคกหม้อ อ.เมือง จ.ราชบุรี เล่าให้ฟังว่าหลังจากเห็นสารคดีด้านการเกษตรทั้งจากโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ก็เกิดความสนใจ จึงได้ศึกษาข้อมูลจากฟาร์มที่อยู่ใกล้เคียงกัน เห็นว่าเป็นงานอิสระและมีความมั่นคง ตนและแฟนจึงเปลี่ยนอาชีพมาร่วมโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงปลาทับทิมของซีพีเอฟ
ศักดิ์ดาเล่าต่อว่า หลังจากที่เริ่มเลี้ยง ก็มีกำไรเฉลี่ย 5,000 บาทต่อกระชัง เขาและภรรยาจึงเพิ่มการเลี้ยงเป็นจำนวน 20 กระชัง เพื่อให้มีรายได้ต่อเนื่องทุกเดือน จนเวลาผ่านไป 2 ปี ก็สามารถคืนเงินลงทุนให้กับแม่ได้ทั้งหมด และยังเก็บเป็นเงินทุนสำรองได้อีกส่วน เมื่อถึงปี 2549 พวกเขาจึงขยายกิจการโดยกู้เงินจาก ธ.ก.ส.เพิ่ม เป็นเงินทุนรวม 400,000 บาท เพื่อเพิ่มกระชังปลาเป็น 40 กระชัง ปัจจุบันจึงมีกำไรจากการเลี้ยงปลาทับทิมเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่าเดือนละประมาณ 40,000 บาท โดยบางเดือนอาจจะได้มากหรือน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนปลาที่เลี้ยง และราคาขายปลาในท้องตลาด
ศักดิ์ดา ยังย้ำด้วยว่า “การเลี้ยงปลา ไม่ใช่แค่เลี้ยงแบบปล่อยไปตามมีตามเกิด แต่ต้องเลี้ยงด้วยใจ เอาใจใส่และหมั่นสังเกต แล้วความเอาใจใส่ในทุกรายละเอียดนี้จะทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดี กลับคืนมา ซึ่งหมายถึง ปลามีอัตราแลกเนื้อที่ดี และการใช้อาหารได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจะช่วยให้มีต้นทุนต่อหน่วยที่ถูกลง แต่อีกปัจจัยสำคัญก็คือ คุณภาพของน้ำ”
จะเห็นว่า ปัจจัยสำคัญของระบบนี้ ขึ้นอยู่กับความจริงใจและความซื่อสัตย์ของทั้งบริษัทและเกษตรกร เพื่อให้เกิดประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย
นั่นคือ เกษตรกรมีการประกันรายได้ที่แน่นอนจากการขายผลผลิต โดยหมดปัญหาด้านการตลาด จึงไม่เสี่ยงต่อการขาดทุน ที่สำคัญยังมีความได้เปรียบตรงที่ว่า บริษัทเอกชนส่วนใหญ่จะปรับปรุงและพัฒนาทั้งพันธุ์สัตว์ อาหาร การจัดการ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และจะมีการนำองค์ความรู้นั้นไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกร เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงสุด เท่ากับว่ารายได้ของเกษตรกรจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากการจัดการฟาร์มต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์
ขณะที่บริษัทจะได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามต้องการ ช่วยลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต ทำให้มีต้นทุนลดลง ด้านราคาและปริมาณผลผลิตที่ได้รับก็มีเสถียรภาพ ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพดีได้มาตรฐาน
ระบบคอนแทรคฟาร์ม จึงเป็นปัจจัยที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาของอุตสาหกรรมการเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐาน จากที่มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ รวมถึงการสร้างความสำเร็จในอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร ที่สำคัญคือนำมาซึ่งความยั่งยืนให้กับวิถีชีวิตของเกษตรกร และยังมีส่วนสำคัญในการผลิตอาหารปลอดภัยให้กับผู้บริโภค
นับเป็นการสร้างงานให้เป็นอาชีพที่มั่นคง มีเสถียรภาพของรายได้ที่ยั่งยืน นำมาซึ่งความกินดีอยู่ดีของเกษตรกรไทย รวมทั้งยังก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เรียกว่า ยกระดับรายได้กันทั้งระบบ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=47260
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง