'ไถกลบตอซัง' ในพื้นที่นาข้าว
เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 53
'ไถกลบตอซัง' ในพื้นที่นาข้าว
วันนี้มีเรื่องมาบอกเล่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “ข้าว” มี 2 เรื่องคือ เรื่องแรกอาจเป็นเรื่องที่บอกกันมานานแล้ว แต่ก็ยังต้องบอกกันอีกเรื่อย ๆ เรื่องที่สองอาจเป็นเรื่องใหม่ที่บางคนอาจยังไม่เคยได้ยินมาก่อนแต่ต่าง ประเทศเขามีมานานแล้ว
เรื่องแรกเป็นเรื่องของการรณรงค์การไถกลบตอซังอย่างจริงจังในพื้นที่นาข้าว รวมไปถึงมันสำปะหลัง อ้อย และข้าวโพด โดยทางกระทรวงเกษตรฯ มียุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศใน ประเทศไทย และจัดทำแผนบรรเทาภาวะโลกร้อนด้านการเกษตร โดยแบ่งแผนงานออกเป็น 5 ด้าน คือ ดิน น้ำ พืช ปศุสัตว์ และ การประมง รวมทั้งให้แต่ละหน่วยงานในกระทรวงฯ รณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนรักสิ่งแวดล้อม และได้มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลัก ในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนในแผนงานการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อป้องกันผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ยุติการทำลายหน้าดิน ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตร โครงการรณรงค์ไถกลบตอซังเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อน จึงเป็นการรณรงค์ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนทัศนคติ ไม่เผาตอซัง ซึ่งทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นมาเป็นการไถกลบ เช่น ในพื้นที่ปลูกข้าว มันสำปะหลัง อ้อย และข้าวโพด เพื่อลดผลกระทบจากการเผาตอซังหลังเก็บเกี่ยวในพื้นที่เกษตรกรรม โดยให้นำวัสดุตอซังที่เหลือใช้จากไร่นามาเป็นวัสดุปรับปรุงบำรุงดิน บรรเทาภาวะโลกร้อนและช่วยเพิ่มคุณภาพดินเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการผลิต และรักษาสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าจะขยายผลไปทุกอำเภอ ตำบล ทุกหมู่บ้าน เพื่อที่จะให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดินดีขึ้น ผลผลิตดีขึ้น และมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตมากขึ้น
สำหรับเรื่องที่สอง เป็นเรื่องที่กระทรวงเกษตรฯ มอบหมายกรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการศึกษา แนวทางการดำเนินการประกันภัยธรรมชาติสำหรับการผลิตข้าว โดยศึกษาอัตราเบี้ยประกัน วงเงินคุ้มครอง รูปแบบหรือเกณฑ์การประเมินความเสียหาย และการบริหารจัดการการรับประกันภัยที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้ศึกษาการรับประกันภัยธรรมชาติสำหรับการ ผลิตข้าวนาปีแบบเสมือนจริง คือ มีการดำเนินการเหมือนการรับประกันภัยจริงทุกประการ แต่ยังไม่มีการเก็บเงินค่าเบี้ยประกันจากเกษตรกรและไม่มีการจ่ายเงินชดเชย แก่เกษตรกรแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ได้ศึกษาในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศรวม 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา กำแพงเพชร นครสวรรค์ หนองคาย มุกดาหาร อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยนาท อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครศรีธรรมราช และพัทลุง โดยนำสถิติการเกิดอุทกภัยและภัยแล้งตั้งแต่ปี 2547-2551 ของแต่ละจังหวัดที่ศึกษามาคำนวณหาโอกาสเกิดภัย เพื่อนำมากำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย และกำหนดวงเงินคุ้มครองในระดับต้นทุนการผลิต โดยการจ่ายเงินชดเชยเกษตรกรให้เป็นไปตามช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโตของข้าว ในช่วงที่ข้าวได้รับความเสียหาย
การประเมินความเสียหายนั้นจะประเมินโดยให้คณะกรรมการประเมินความเสียหายในระดับท้องถิ่นลงสำรวจแปลง และตรวจสอบว่าเกษตรกรรายนั้นจะได้รับเงินชดเชยเท่าไร
สำหรับการประกันภัยทางการเกษตรในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และจีน ซึ่งรับประกันภัยพืชเกือบทุกชนิด และคุ้มครองภัยธรรมชาติทุกภัย ยกเว้นญี่ปุ่นจะคุ้มครองทั้งโรคพืช แมลง และสถานการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาอื่น ๆ ด้วย โดยประเทศที่พัฒนาแล้วจะนิยมใช้ดัชนีผลผลิตของเขตพื้นที่ หรือประกันรายได้ ในการประเมินความเสียหาย ส่วนประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทยนิยมใช้ดัชนีภูมิอากาศในการประเมินความเสียหาย
อรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในการบริหารจัดการประกันภัยทางการเกษตรทุกประเทศจะมีกฎหมายรับรองและกำหนดแนวทางการประกันภัย ส่วนใหญ่จะดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้วางนโยบายประกันภัยพืชผล ออกพระราชบัญญัติประกันภัยพืชผล จัดตั้งหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่รับประกันภัยโดยเฉพาะและจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงาน ส่วนภาคเอกชนจะเป็นผู้บริหารจัดการตัวแทนประกันภัย ดูแลจัดการโครงการที่ได้รับจากสถาบันการเงิน ดูแลเงินค่าชดเชยในแต่ละพืช แต่ละพื้นที่ และจ่ายเงินค่าชดเชย เป็นต้น
มีข้อแนะนำว่า เพื่อให้การประกันภัยทางการเกษตรสามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี รัฐบาลควรเข้ามาสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย ทั้งสนับสนุนเต็มจำนวนหรือเป็นบางส่วนประมาณ 20-50% ของค่าเบี้ยประกัน เพื่อจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยและ ไม่เป็นภาระในการเพิ่มต้นทุนแก่เกษตรกร.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=346&contentID=47441
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง