เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 53
ใบชา ดีมีคุณภาพนั้นต้องมาจากจีน หรือไต้หวัน ส่วนในบ้านเราก็มีการเพาะปลูกพืชชนิดนี้อยู่ด้วยเช่นกัน แถบจังหวัดน่าน เชียงใหม่ และเชียงราย ซึ่งหลังจากมีงานวิจัยระบุออกมาว่า "การดื่มชา" นอกจากจะช่วยป้องกันโรคภัยต่างๆ ยังทำให้สุขภาพแข็งแรง อายุยืน ลดคอเลสเทอรอลป้องกันการอุดตันของเส้นเลือด
จากรายงานดังกล่าวส่งผลให้คาบเวลานี้ผู้คนทั่วโลกต่างหันมานิยมดื่มกันมากขึ้น ไม่ว่าจะรูปแบบชงร้อน หรือแช่เย็น ส่งผลให้หลายแห่งที่มีสภาพภูมิอากาศเหมาะสม ต่างหันมาปลูกพืชชนิดนี้กันมากขึ้น
นายประเสริฐ พิทักษ์วาวี หนึ่งในเกษตรกรผู้ปลูกชาอู่หลงก้านอ่อนในพื้นที่ตำบลวาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย บอกว่า เดิมแหล่งที่ปลูกชาสายพันธุ์นี้มากที่สุดคือประเทศไต้หวัน ครั้งหนึ่งบิดาเดินทางไปหาเพื่อนที่ประเทศนี้ เห็นว่าน่าสนใจจึงนำเข้ามาจำนวน 10 ต้น มาปลูกที่จังหวัดเชียงราย โดยใช้ระยะเวลาเพาะขยายกิ่งพันธุ์อยู่ประมาณ 2 ปี
ชาสายพันธุ์นี้ค่อนข้างมีกลิ่นหอม บางครั้งจึงมีศัตรูพืชเข้ารบกวน ทางผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไต้หวัน แนะนำให้ใช้สารเคมีป้องกัน ส่วนการบำรุงดินจากเดิมที่เคยใช้ปุ๋ย ผลผลิตจะได้มากแต่นานวันดินเริ่มแข็ง ผลผลิตที่ได้น้อยลง ใบชากลิ่นไม่หอมเหมือนช่วงแรก ประกอบกับสมาชิกในครอบครัวจะดื่มชาด้วย จึงคิดว่า การชงชาดื่มต้องใช้น้ำร้อน หากสารเคมีตกค้างก็จะเป็นอันตราย อีกทั้งในอนาคตการส่งออกผลผลิตที่ส่วนใหญ่มุ่งไปยังประเทศจีน และไต้หวัน อาจเกิดปัญหา
ดังนั้น จึงปรับเปลี่ยนมาใช้สารชีวภาพ ปุ๋ยหมัก โดย ใช้มูลวัว ฟางข้าว แกลบ ผสมหมักเข้าด้วยกัน และสั่งซื้อเข้ามาบ้างเป็นบางส่วน ทำให้ผลผลิตดีขึ้น ใบเขียว รสดี กลิ่นหอม ซึ่งภายในระยะเวลา 45 วัน สามารถเก็บเป็นใบชาสดได้เฉลี่ยอยู่ที่ 150-200 กก./ไร่ หลังนำไปผลิตเป็นชาแห้งสำเร็จรูปจะเหลือ 10-20 กก.
ส่วนการบำรุงรักษาต้น นายประเสริฐแนะนำว่า หลังเก็บผลผลิตแล้วหลักสำคัญที่จะทำให้ชาออกใบอ่อนภายในระยะเวลานั้น ควรแต่งกิ่ง ปล่อยน้ำเลี้ยงให้ตลอด ชาจึงแตกยอด หากเป็นช่วงฤดูแล้ง ควรปล่อยน้ำทุกวันจุดละ 2 ชั่วโมง ประมาณ 30 วัน ชาจะเริ่มแตกใบอ่อน ช่วงนี้นับว่าสำคัญมากเพราะแมลงศัตรูพืชมักเข้ามารบกวน
ทางสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่เข้ามาทำโครงการสร้างชุมชนต้นแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมฐานความรู้ไปสู่ สังคมอุดมปัญญาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้ใช้สารสกัดจากธรรมชาติ พร้อมทั้ง นำตัวห้ำตัวเบียนมาปล่อย ซึ่งผลจากการปรับเปลี่ยนนี้เอง ทำให้ปัจจุบันพื้นที่ปลูกแห่งนี้เป็นไร่ชาที่ปลอดภัย ประเทศคู่ค้าให้การยอมรับในคุณภาพ แต่ละปีจะมียอดสั่งนำเข้า 4-5 ตัน แต่มีผลผลิตส่งออกเพียง 1.5 ตันเท่านั้น
"แม้เราสามารถขยายพื้นที่ เพื่อให้มีผลผลิตส่งออกได้อย่างเพียงพอ แต่ที่ไม่ทำเช่นนั้นก็เพราะว่า หากปลูกมากแต่ดูแลไม่ทั่วถึง ชาที่ได้ก็ไม่มีคุณภาพ ดังนั้น จึงมุ่งส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงหันมาปลูกชาสายพันธุ์นี้เพิ่ม มากขึ้น ซึ่งมีราคารับซื้ออยู่ที่ 1,000-1,500 บาท/กก."
ประเสริฐบอกว่า นอกจากจะมีผลผลิตที่ปลอดสารตอบสนองความต้องการกลุ่มผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยให้ชาวเขามีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/63983