เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 53
สวทช.จดสิทธิบัตรข้าว 3 สายพันธุ์ใหม่โลกพร้อมยกระดับพันธุ์ข้าวต้านโลกร้อนชี้ใช้เทคโนชีวภาพช่วย ไม่ใช่จีเอ็มโอ
เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2553 ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) มีพิธีลงนามความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาด้านข้าวระหว่างกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ระยะที่ 2 โดย ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมา วท. โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สวทช.ได้ร่วมมือวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวกับกรมการข้าว กระทรวงเกษตรฯ พัฒนาพันธุ์ข้าวนาน้ำฝน สายพันธุ์ขาวดอกมะลิ105 และสายพันธุ์ กข.6 ที่มีความต้านทานต่อโรค แมลง และสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม และยังคงคุณภาพใกล้เคียงกับสายพันธ์เดิม ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า นักวิจัยของไบโอเทค ประสบความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ดังกล่าวให้เป็น 3 สายพันธุ์ชนิดใหม่ ได้แก่ สายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ทนน้ำท่วมฉับพลัน สายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ทนดินเค็ม และสายพันธุ์ กข.6 ต้านทานโรคไหม้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นขอรับรองพันธุ์ โดยคาดว่าในเดือน ก.ย.นี้ จะแล้วเสร็จ จากนั้น จะดำเนินการจดสิทธิบัตรเป็นข้าวสายพันธุ์ชนิดใหม่ของโลกกับกระทรวงเกษตรฯต่อไป ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 5 ปี
ด้านนายธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยไบโอเทค กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง สวทช.กับ กรมการข้าวระยะที่ 2 จะใช้เวลา 5 ปีเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าว 3 สายพันธุ์ใหม่ในส่วนที่ยังขาดคุณสมบัติให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนั้นจะมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวชนิดใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศและสภาพแวดล้อมรวมทั้งปัญหาโลกร้อน ซึ่งที่ผ่านมา นาข้าวของไทยในหลายพื้นที่ของประเทศประสบปัญหาข้าวเป็นหมัน ข้าวไม่ติดเมล็ด สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หรือโลกร้อน อาทิ ในหลายพื้นที่อากาศหนาวทำให้ข้าวไม่ออกเม็ดหรือเป็นหมัน หรือ ในบางพื้นที่ที่ประสบปัญหาอากาศร้อนก็เจอกับโรคชนิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้น
ดังนั้น ความร่วมมือในการวิจัยก็จะมีการยกระดับพันธุ์ข้าว โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาช่วยปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้แข็งแรงสามารถต่อสู้กับปัญหาโลกร้อนได้ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีชีวภาพนอกจากช่วยร่นระยะเวลาพัฒนาพันธุ์ข้าวจากเดิมที่ต้องใช้เวลานานนับ 10 ปีให้เหลือ 4 - 5 ปี นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มผลผลิตให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ข้าวไทยสามารถส่งออกแข่งขันกับต่างประเทศได้ “การพัฒนาพันธุ์ข้าวต้านโลกร้อนจะใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ใช่ใช้กระบวนการตัดต่อพันธุ์กรรมหรือจีเอ็มโอ ดังนั้น ข้าวที่ได้อาจจะมีรูปแบบของเมล็ดที่เปลี่ยนไปบ้างจากเดิม แต่มีความปลอดภัยกับผู้บริโภค ที่สำคัญการพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อรับมือกับโลกร้อนจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทยอย่างมาก” นายธีรยุทธ กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/64270