เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 53
นางสำลี บุญญาวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีชีวภาพช่วยในการค้นหาตำแหน่งยีนบีพีเอช 3 จากพันธุ์ข้าวราตูฮีนาติ (Rathu Heenati) และค้นหาตำแหน่งยีนบีพีเอช 4 จากพันธุ์ข้าวบาบาวี (Babawee) พบว่า ยีนทั้งสองมีตำแหน่งอยู่ใกล้กันบนโครโมโซม 6
ทั้งนี้นักวิจัยของศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานีได้ใช้เทคนิคเครื่องหมายโมเลกุล เพื่อช่วยในการคัดเลือก ซึ่งไม่ใช่เทคนิคการตัดต่อยีนที่จะทำให้เกิดข้าว GMOs ทำให้ได้สายพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีเหมือนพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และให้ผลผลิตสูงกว่า มีความต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและเพลี้ยกระโดดหลังขาว ใช้ระยะเวลาศึกษาวิจัยเพียง 5 ปี จากปกติต้องใช้เวลานานถึง 10 ปีหรือมากกว่า เท่ากับเป็นการลดระยะเวลา และลดลักษณะที่ไม่ต้องการที่ติดมากับลักษณะที่ต้องการ
รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้จะก่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวของไทยในอนาคต โดยจะเป็นแนวทางการลดระยะเวลาพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้มีความต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและเพลี้ยกระโดดหลังขาว ที่ปัจจุบันนี้ยังเป็นปัญหาของเกษตรกรไทย อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีความสำเร็จในการใช้เครื่องหมายโมเลกุลพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีเหมือนพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และต้านทานต่อเพลี้ยกระโดด แต่เนื่องจากเพลี้ยกระโดดก็มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงประชากรอยู่ตลอดเวลา จนสามารถเข้าทำลายพันธุ์ต้านทานได้เช่นกัน ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาแหล่งยีนต้านทานใหม่ๆ มาใช้ในโครงการปรับปรุงพันธุ์อย่างเร่งด่วน โดยขณะนี้ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานีกำลังศึกษาหาตำแหน่งยีนต้านทานบนโครโมโซมจากสายพันธุ์ข้าวที่ได้รับยีนต้านทานจากข้าวป่า Oryza minuta และพยายามพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=198957