'เพลี้ยจักจั่น' ทำลายช่อมะม่วงช่วงหนาว
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 53
'เพลี้ยจักจั่น' ทำลายช่อมะม่วงช่วงหนาว
มะม่วง เป็นไม้ผลเขตร้อนที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพพื้นที่ของประเทศไทย ด้วยเหตุนี้มะม่วงจึงเป็นไม้ผลที่มีเกษตรกรนิยมปลูกเป็นการค้ามากที่สุด ซึ่งในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูหนาว และเป็นฤดูกาลของมะม่วงเริ่มออกช่อดอก ซึ่งสภาพอากาศที่มีความแห้งแล้ง มักทำให้มี “
เพลี้ย จักจั่น” เข้าทำลายช่อดอกมะม่วงได้
แมลงชนิดนี้พบระบาดทั่วไปทุกแห่งที่ปลูกมะม่วง โดยพบได้ตลอดทั้งปีแต่ปริมาณประชากรของเพลี้ยจักจั่นจะเพิ่มอย่างรวดเร็วในช่วงออกดอก คือ ระหว่างเดือนธันวาคม-มกราคม เมื่อมะม่วงเริ่มแทงช่อดอก จำนวนเพลี้ยจักจั่นจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงระยะตูม มีปริมาณสูงสุดเมื่อดอกใกล้บาน และจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อมะม่วงเริ่มติดผล ซึ่งจะไม่พบบนผลเมื่อมะม่วงมีขนาดเท่านิ้วหัวแม่มือ (1.5-2 ซม. หรือช่วง 40 วัน)
การเข้าทำลายทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะทำลายใบอ่อน ช่อดอก ก้าน ดอก และยอดอ่อน แต่ระยะที่ทำความเสียหายมากที่สุด คือ ระยะที่มะม่วงกำลังออกดอก โดยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนและช่อดอกทำให้แห้งและดอกร่วง ติดผลน้อยหรือไม่ติดเลย ระหว่างที่เพลี้ยจักจั่นดูดกินน้ำเลี้ยง จะถ่ายมูลมีลักษณะเป็นน้ำเหนียว ๆ คล้ายน้ำหวานจับบนใบ ช่อดอก ผลและรอบ ๆ ทรงพุ่ม ทำให้มะม่วงเหนียวเปียกเยิ้ม ต่อมาตามใบ ช่อดอก จะถูกปกคลุมกลายเป็นโรคเชื้อราดำ ถ้าปกคลุมมากจะกระทบกระเทือนต่อการสังเคราะห์แสง ใบที่ถูกดูดน้ำเลี้ยงในระยะเพสลาด จะบิดงอโค้งลงด้านใต้ใบ ตามขอบใบจะมีอาการปลายใบแห้ง
เมื่อเพลี้ยจักจั่นเข้าทำลายในช่วงที่มะม่วงกำลังออกดอก จะทำให้ดอกร่วง ติดผลน้อย หรืออาจไม่ติดผลเลย ซึ่งปริมาณผลผลิตอาจลดลงได้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้แนะวิธีป้องกันกำจัด โดย ให้เกษตรกรใช้แมลงศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยจักจั่นที่ควรอนุรักษ์ไว้ ได้แก่ ผีเสื้อตัวเบียน Epipyropid แมลงวันตาโต Pipunculid และแตนเบียน Aphelinid สำหรับตัวห้ำ ได้แก่ มวนตาโต หรือใช้เชื้อรา เมตาไรเซียม เฮอชูเทลล่า หรือเชื้อราขาวบิวเวอเรีย ควบคุมไว้ก่อน
สำหรับในระยะที่ดอกมะม่วงกำลังบาน การใช้น้ำฉีดชะล้างช่อดอกและใบในตอนเช้าจะช่วยให้การติดผลมะม่วงดีขึ้น ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาช่อดอกและใบดำจากเชื้อราได้ การฉีดน้ำแรงพอจะทำให้ตัวอ่อนของเพลี้ยกระเด็นออกมาจากช่อดอก แต่ไม่ควรฉีดน้ำแรงเกินไปในขณะที่ติดผลอ่อน เพราะอาจทำให้ผลร่วงได้ นอกจากนี้ ให้ใช้กับดักไฟฟ้าเพื่อล่อตัวเต็มวัยมาทำลาย ส่วนการตัดแต่งกิ่งภายหลังจากเก็บผลผลิตแล้ว การทำความสะอาดบริเวณแปลงปลูกมะม่วง และการสุมไฟไล่แมลงก็เป็นอีกวิธีที่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยลดที่หลบซ่อนของเพลี้ยจักจั่นลง ทำให้การพ่นสารฆ่าแมลงมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
หากพบเพลี้ยจักจั่นในปริมาณมากสารเคมีที่แนะนำให้ใช้ ได้แก่ คาร์บาริล เอนโดซัลแฟน และไอดาซินอล เป็นต้น (ยกเว้น โมโนโครโตฟอส ซึ่งเป็นสารเคมี ที่ได้ประกาศให้มีการยกเลิกการใช้ ในปี พ.ศ. 2543) อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ในระยะก่อนมะม่วงออกดอก 1 ครั้ง และเมื่อเริ่มแทงช่อดอก 1 ครั้ง เมื่อช่อดอกบานแล้วไม่ควรพ่นสารฆ่าแมลง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแมลงที่ผสมเกสร และหมั่นตรวจดูตามช่อดอกอยู่เรื่อย ๆ ถ้าพบตัวอ่อนและตัวเต็มวัยในจำนวนมากกว่า 5 ตัวต่อช่อ ควรพ่นอีก 1-2 ครั้งในระยะดอกตูม และก่อนดอกบาน ถ้าหากมะม่วงติดผลขนาดหัวแม่มือ การพ่นสารฆ่าแมลงอาจไม่มีความจำเป็น
ทั้งนี้ ในสวนที่พบว่ามีการระบาดรุนแรงควรเปลี่ยนไปพ่นด้วยสารไพรีทรอยด์สังเคราะห์ คือ แลมด้า ไซฮาโล ทริน 2.5% อีซี 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นในระยะก่อนมะม่วงออกดอก และเมื่อมะม่วงเริ่มแทงช่อดอก ส่วนในระยะดอกตูมและก่อนดอกบาน ถ้าพบเพลี้ยจักจั่น 5 ตัวต่อช่อ ควรฉีดพ่นอีก 1-2 ครั้ง ซึ่งการพ่นสารฆ่าแมลงล่าช้าอาจทำให้ดอกร่วงหมด โดยการพ่นสารฆ่าแมลงให้มีประสิทธิภาพ ควรพ่นให้ทั่วถึงทั้งลำต้น มิฉะนั้นตัวเต็มวัยจะเคลื่อนย้ายหลบซ่อนไปยังบริเวณที่พ่นสารฆ่าแมลงไม่ถึง นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงการปรับละอองฝอยหัวฉีดและระยะเวลาในการฉีดพ่นด้วย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 6 มกราคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=345&contentID=41021
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง