หน้าแรก > ข่าวเกษตรประจำวัน
ผลิตก๊าซคุณภาพดีจากชีวมวลหนุนพัฒนาระบบใช้ในโรงงาน
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 53
ผลิตก๊าซคุณภาพดีจากชีวมวลหนุนพัฒนาระบบใช้ในโรงงาน
นายสมมาส แก้วล้วน นักศึกษาปริญญาเอก บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนและ ผศ.ดร.สุนีรัตน์ พิพัฒน์มโนมัย อาจารย์ที่ปรึกษา ในฐานะนักวิจัยของบัณฑิตวิทยาลัยร่วมฯ ได้ศึกษาปัจจัยและผลกระทบต่าง ๆ ที่มีต่อกระบวนการผลิตก๊าซเชื้อเพลิงจากชีวมวล (เศษไม้ แกลบ) ในเครื่องปฏิกรณ์ก๊าซซิฟิเคชั่นแบบฟลูอิไดซ์เบดขนาด 100 กิโลวัตต์ (kWth) โดยในเบื้องต้นได้ทดสอบเปลี่ยนชีวมวลซึ่งเป็นเชื้อเพลิงแข็งให้อยู่ในรูปของก๊าซเชื้อเพลิง ซึ่งผลการทดลองในระดับห้องปฏิบัติการพบว่า ปัจจัยที่ช่วยให้การผลิตก๊าซเชื้อเพลิงมีคุณภาพดี คือ อัตราการป้อนอากาศสู่เครื่องปฏิกรณ์ต้องมีความพอเหมาะกับเชื้อเพลิง อีกทั้งยังพบว่าการผสมเศษยางสับ เช่น ยางรถยนต์ เศษยางพารา หรือเศษพลาสติกจะช่วยให้ได้ก๊าซที่ได้มีคุณภาพดีขึ้น และยังเป็นการช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกและเศษยางได้อีกทางหนึ่ง
นายสมมาส กล่าวว่า ดังนั้นเพื่อต่อยอดความสำเร็จจากการพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์ก๊าซซิฟิเคชั่นแบบฟลูอิไดซ์เบด จากระดับห้องปฏิบัติการสู่ต้นแบบด้านอุตสาหกรรม บัณฑิตวิทยาลัยร่วมฯ จึง ได้ร่วมมือกับบริษัทเอสซีจี (เครือซิเมนต์ไทย จำกัด) ดำเนินโครงการวิจัย “การทดสอบสมรรถนะและการหาสภาวะที่เหมาะสมของระบบผลิตก๊าซเชื้อเพลิงแบบฟลูอิไดซ์เบดขนาดความร้อน 1 เมกะวัตต์ (MW) ของ บริษัทเอสซีจี ทุ่งสง จำกัด” หลังจากมีการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสภาวะการทำงานและช่วยปรับปรุงแก้ไขระบบผลิตก๊าซเชื้อเพลิงแบบฟลูอิไดซ์เบดขนาด 1 เมกะวัตต์ (ความร้อน) ของโรงปูนซีเมนต์ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช แล้วเสร็จจนทำให้ระบบทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และต่อมาได้ดำเนินโครงการวิจัย “การถ่ายทอดเทคนิคการเดินระบบผลิตก๊าซเชื้อเพลิงโดยเตาปฏิกรณ์แบบฟลูอิไดซ์ เบดขนาด 5 MW (ความร้อน) ของบริษัทกระเบื้อง COTTO” โดยได้นำองค์ความรู้จากการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตก๊าซเชื้อเพลิงมาใช้ในการเดินระบบและกำหนดสภาวะที่เหมาะสมในการแปรสภาพแกลบเป็นก๊าซเชื้อเพลิง ซึ่งก๊าซเชื้อเพลิงที่ได้สามารถนำไปใช้ร่วมกับก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในโรงงาน โดย พบว่าสามารถลดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติ และช่วยให้ต้นทุนด้านเชื้อเพลิงลดลงได้มาก
อย่างไรก็ดี นอกจากการต่อยอดองค์ความรู้จากการวิจัยการผลิตก๊าซเชื้อเพลิงจากเตาปฏิกรณ์ แบบฟลูอิไดซ์เบดจากห้องปฏิบัติการสู่ต้นแบบในภาคอุตสาหกรรมในโรงงานปูนซีเมนต์ของเอสซีจีแล้ว ขณะนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมยังสนใจที่จะนำระบบผลิตก๊าซเชื้อเพลิงแบบฟลูอิไดซ์เบดไปปรับใช้ต่อในโรงงานเซรามิก ที่จังหวัดลำปาง เพื่อทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม (ก๊าซแอลพีจี) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาระบบและการติดตั้งเพื่อทดสอบประสิทธิภาพต่อไป
ทั้งนี้หากเป็นผลสำเร็จเชื่อว่าจะช่วยลดต้นทุนก๊าซหุงต้ม ซึ่งมีแนวโน้มจะลอยตัวขึ้นในอนาคต.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=339&contentID=48602
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง