เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 53
นักวิจัยจากภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร ม.เกษตรฯทำวิจัยใช้ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมเกษตรมาเป็นอาหารโคนมและโคเนื้อให้มีคุณภาพดี สามารถเร่งน้ำนม-สร้างเนื้อเพิ่มมากขึ้น เพิ่มรายได้เกษตรกร
การเลี้ยงโคนมและโคเนื้อ เพื่อให้มีคุณภาพดีได้ทั้งน้ำนมดีมีเนื้อเยอะ อาหารที่ใช้เลี้ยงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ที่เกษตรกรประสบปัญหา คือ ต้นทุนการผลิตที่จะสูงขึ้นทุกวัน
นักวิจัยจากภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการวิจัยใช้ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมเกษตรมาเป็นอาหารโคนมและโคเนื้อให้มีคุณภาพดี สามารถเร่งน้ำนม และสร้างเนื้อเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์
รศ.ดร.ศรเทพ ธัมวาสร อาจารย์ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ได้ทำการวิจัยทดลองอาหารสัตว์ เพื่อให้เป็นทางเลือกแก่เกษตรกร ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงโค ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ นอกจากนี้ ยังมีการนำวัสดุเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่า เป็นการรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีและคงอยู่อย่างยั่งยืน
โดยวิจัยได้อาหารหยาบชนิดใหม่ที่มีคุณภาพดีแล้ว ตั้งชื่อว่า อาหารพีเอ็มอาร์ สามารถนำมาทดแทนอาหารข้นและอาหารหยาบคุณภาพต่ำได้เป็นอย่างดี โดยได้นำวัสดุเหลือใช้หรือผลพลอย ได้จากการทำเอทานอลที่ใช้กากน้ำตาลและยีสต์เป็นส่วนผสม ผลพลอยได้นี้เรียกว่าวีนัส มาผสมกับวัสดุเหลือใช้หรือผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน อุตสาหกรรมสับปะรด และผักผลไม้อื่นๆ โดยผสมกับชานอ้อยป่นเพื่อให้จุลินทรีย์และวีนัสได้จับเกาะ และดูดซับเอาธาตุอาหารที่จำเป็นได้อย่างครบถ้วน เมื่อนำไปหมักประมาณ 21 วัน ก็สามารถนำไปให้สัตว์กระเพาะรวม อันได้แก่ โค กระบือ กินได้ตลอดทั้งปี
"พีเอ็มอาร์ มีคุณสมบัติที่สามารถเป็นอาหารสัตว์ได้ดี เพราะมีโภชนะที่สำคัญอยู่ระหว่างอาหารข้นที่มีราคาแพง กับอาหารหยาบทั่วไปที่มีราคาแปรปรวนไปตามฤดูกาล พีเอ็มอาร์สามารถผลิตได้ปริมาณมากพอ มีคุณภาพสม่ำเสมอ และราคาคงที่ตลอดทั้งปี จะทำให้เกษตรกรปรับการให้อาหารได้ตามความมากน้อยของอาหารหยาบ และราคาอาหารข้นที่แปรปรวน ไปได้..."นายศรเทพกล่าว
ทีมวิจัยได้นำอาหารดังกล่าวไปทดลองที่สถานีวิจัยของกรมปศุสัตว์ ลำพญากลาง จ.นครราชสีมา ในโคนม เป็นระยะเวลา 2 ปี ผลปรากฏว่าโคนมที่กินอาหารพีเอ็มอาร์ และเสริมด้วยวีนัส ทำให้ต้นทุนค่าอาหารต่อการให้น้ำนมดิบ 1 กิโลกรัมลดลงมากถึง 25% จากนั้นได้ทำการวิจัยในโคเนื้อขุนที่ สหกรณ์โคเนื้อโพนยางคำ จ.สกลนคร พบว่าสามารถทดแทนอาหารหยาบคุณภาพต่ำได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงปลายของการขุนก่อนส่งโรงแปรรูปนาน 180 วัน และยังช่วยลดการให้อาหารข้นที่มีราคาแพงลงได้มากถึง 30%
รศ.ดร.ศรเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังพบว่าเนื้อที่เกิดจากการให้โคกินอาหารพีเอ็มอาร์ และวีนัส มีความนุ่มมากกว่าการให้อาหารแบบเดิม และไม่ต้องเก็บหมักในห้องเย็นนานถึง 21 วัน เพียงเก็บในห้องเย็นแค่ 7 วัน ก็สามารถให้ความนุ่มได้เท่ากับการบ่มถึง 21 วันด้วยวิธีการให้อาหารแบบเดิม เมื่อนำไปให้ผู้บริโภคชิมทดสอบเนื้อ พบว่า ผู้บริโภคมีความพอใจมากกว่าเนื้อโคที่ได้รับอาหารแบบปกติอีกด้วย ทั้งนี้ อาจเป็นผลมาจากการที่อาหารพีเอ็มอาร์ และวีนัส มียีสต์ และโภชนะที่สำคัญ ได้แก่ ไวตามิน กรดอะมิโน พร้อมทั้ง เกลือแร่ ที่ทำให้ช่วยการย่อยอาหารหยาบได้เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
การวิจัยดัง กล่าวได้รับงบสนับสนุนจากบริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด และมีการอบรมแก่ผู้เลี้ยงโคนมและโคเนื้อไปแล้ว 17 รุ่นในปี 2552 มีเกษตรกรผ่านการอบรมจำนวน 1,084 คน ผู้สนใจกริ๊งกร๊างหา รศ.ดร.ศรเทพ ธัมวาสร ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน 0-2940-7345 โทรสาร 0-2579-6152 หรือ Email : [email protected]
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/64979