เมื่อวันที่ 6 มกราคม 53
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยว่า ตามที่ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟตา (AFTA) มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งไทยมีสินค้าเกษตร 23 รายการ ที่ต้องยกเลิกโควตาและลดภาษีเป็น 0% อาทิ น้ำนมดิบ/นมพร้อมดื่ม นมผงขาดมันเนย หอมหัวใหญ่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมล็ดถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม ซึ่งแม้ในภาพรวมจะทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนได้มากขึ้น และนำเข้าสินค้าวัตถุดิบได้ถูกลงทำให้ต้นทุนการผลิตลด แต่ยังมีสินค้าเกษตรบางรายการที่อาจจะได้รับผลกระทบ เช่น ปาล์มน้ำมัน และข้าว เป็นต้น
สำหรับในเรื่องข้าว แม้ว่า ในภาพรวมจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากข้าวไทยเป็นตลาดข้าวคุณภาพสูง และสินค้าข้าวที่อยู่ในข้อตกลงเป็นข้าวประเภทปลายข้าวหัก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมแปรรูปจากข้าวเท่านั้น แต่กระทรวงเกษตรฯยังมีความกังวลเรื่องข้าวที่ด้อยคุณภาพอาจทะลักเข้ามาในประเทศ ซึ่งจะยากต่อการควบคุมและตรวจสอบแหล่งที่มา ทำให้เกิดผลกระทบต่อราคาข้าวของเกษตรกร นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ จึงสั่งการให้ทำหนังสือขอความร่วมมือในการควบคุมการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารตามแนวชายแดนไทย ไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการลักลอบการนำเข้าสินค้าดังกล่าว
ส่วนเรื่องปาล์มน้ำมัน ซึ่งคาดว่า จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันนั้น กระทรวงเกษตรฯได้จัดสัมมนาเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและผู้ประกอบการ ซึ่งได้เสนอแนวทางหลัก 2 ด้าน คือ
1.ด้านกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ ที่จะเอื้อต่อการพัฒนาการผลิตปาล์มทั้งระบบให้สามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศที่เป็นคู่แข่งหลักได้ เช่น การออกกฎหมายรองรับในเรื่องปาล์มน้ำมัน มาตรฐานปาล์มน้ำมัน การประกันรายได้ของปาล์มน้ำมันที่มีคุณภาพดีเช่นเดียวกับข้าว การจัดตั้งกองทุนปาล์มน้ำมันเช่นเดียวกับกองทุนยางพารา และ
2.ด้านการผลิต โดยส่งเสริมองค์ความรู้แก่เกษตรกร เช่น การใช้ปุ๋ย ดิน และพันธุ์ปาล์มน้ำมันที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ การส่งเสริมองค์ความรู้เรื่องอุตสาหกรรมปาล์ม ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะนำประเด็นต่างๆที่เกษตรกรเสนอ มาพิจารณาดำเนินนโยบายช่วยเหลือและสนับสนุนให้สอดคล้องกับความต้องการอย่าง เร่งด่วนต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 6 มกราคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=194109