เครื่องวัดความชื้นลำไยอบแห้งทั้งเปลือก ประหยัดเชื้อเพลิง เวลา และเงินทุน
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 53
เครื่องวัดความชื้นลำไยอบแห้งทั้งเปลือก ประหยัดเชื้อเพลิง เวลา และเงินทุน
ตามร่างมาตรฐานสินค้าลำไยอบแห้งเพื่อการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้ลำไยอบ แห้งมีระดับความชื้นไม่เกินร้อยละ 14 และ ได้กำหนดวิธีมาตรฐานในการหาปริมาณความชื้นลำไยอบแห้งทั้งเปลือก โดยการอบแห้งในตู้อบลมร้อน หรือตู้อบสุญญากาศ มาตรฐานที่กำหนดเป็นผลดีต่อการค้าและส่งออกลำไยอบแห้ง เป็นผลให้ลู่ทางการทำลำไยอบแห้ง มีโอกาสขยายตัวกว้างขวางขึ้น ซึ่งการอบแห้งโดยตู้อบลมร้อนหรือตู้อบสุญญากาศเป็นวิธีที่แม่นยำได้ค่าความชื้นที่เชื่อถือได้ แต่ใช้เวลาในการอบแห้งจนได้น้ำหนักคงที่ไม่ต่ำกว่า 18 ชั่วโมง จึงจะคำนวณผลเป็นค่าเปอร์เซ็นต์ความชื้น ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้เวลานานมากทำให้ไม่เหมาะในการใช้หาความชื้นลำไยอบแห้ง เพื่อการค้าและไม่สะดวกในการปฏิบัติ
นายอัคคพล เสนาณรงค์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กลุ่มวิจัยเกษตรวิศวกรรมหลังการเก็บเกี่ยว สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาต้นแบบ
เครื่องวัดความชื้นลำไยอบแห้งทั้งเปลือก ที่สามารถวัดความ ชื้นลำไยอบแห้งเพื่อการค้าและการส่งออก โดยใช้เวลาในการวัดหาค่าน้อย ได้ค่าที่น่าเชื่อถือและสอดคล้องกับผลจากวิธีในห้องปฏิบัติการ สามารถใช้งานได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรผู้ประกอบการลำไยอบแห้งตลอดจนพ่อค้าที่รับซื้อลำไยอบแห้งทั้งเปลือก
นายชูศักดิ์ ชวประดิษฐ์ วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ กลุ่มวิจัยวิศวกรรมหลังการเก็บเกี่ยว และทีมงานวิจัย ได้ดำเนินการพัฒนาเครื่องมือวัดความชื้นลำไยโดยเริ่มจากเครื่องมือวัดความ ชื้นลำไยอบ แห้งทั้งเปลือกแบบความต้านทานไฟฟ้า ซึ่งเป็นเครื่องวัดแบบหัวเสียบ แสดงผลแบบ อนาล็อก วัดลำไยทีละลูก การวัดทีละลูกทำให้การดำเนินการวัดลำไย เพื่อเป็นตัวแทนจำนวนขนาดใหญ่ เช่น การอบแห้งลำไยทั้งเปลือกแบบกระบะซึ่งมีปริมาณไม่น้อยกว่า 2 ตัน จะใช้เวลาดำเนินการนานมาก
หลังจากที่ได้ดำเนินการพัฒนาทดสอบ ปรับปรุง แก้ไข ในช่วงหลัง ก็ได้เครื่องมือวัดความชื้นลำไยอบแห้งทั้งเปลือก ซึ่งพัฒนาขึ้นมาให้วัดลำไยขนาด เอเอ ซึ่งเป็นขนาดเพื่อการส่งออก โดยวัดครั้งละ 15 ลูก โดยกระบวนการเริ่มจากการแกะเปลือกลำไยอบแห้งที่คัดออกมาเป็นตัวอย่างขนาด เอเอ จำนวน 15 ลูก เสร็จแล้วนำมาบรรจุในหัววัดทรงกระบอก ปิดฝาให้แน่น เปิดสวิตช์เครื่องวัด นำหัววัดที่บรรจุตัวอย่างไปใส่ในช่องบรรจุหัววัดของเครื่องกดปุ่มอ่านค่าซึ่งจะใช้เวลาในการวัด ตั้งแต่เริ่มแกะเปลือกตัวอย่างจนกระทั่งการวัดเสร็จสิ้นไม่เกิน 5 นาที มาตรฐานที่ใช้ในการหาความชื้นพบว่า สามารถวัดความชื้นลำไยอบแห้งตั้งแต่เริ่มการอบลำไยสดจนได้ลำไยแห้งโดยสามารถวัดในช่วงความชื้น 60% ถึง 10% (ความชื้นมาตรฐานเปียก) ที่ค่าความผิดพลาดบวกลบไม่เกิน 0.25
เครื่องวัดขนาดนี้การวัดทำได้ 2 วิธี คือ ใช้งานอยู่กับที่โดยใช้หม้อแปลงไฟฟ้าเสียบเข้ากับไฟบ้าน หรือจะใช้กับถ่าน 9 โวลต์ นำออกไปวัดความชื้นลำไยในภาคสนามได้
สำหรับประโยชน์ของเครื่องวัดความชื้นลำไยที่กลุ่มวิจัยวิศวกรรมหลังการเก็บเกี่ยวพัฒนาขึ้นมาใหม่นี้ มีประโยชน์อยู่ 2 ประการ คือ 1. การวัดความชื้นลำไยในระหว่างซื้อขาย2. การวัดระหว่างดำเนินการอบ เครื่องนี้สามารถบอกได้ว่า ขณะนี้ลำไยแห้งดีแล้ว คือ ความชื้น 14% ก็จะหยุดทำงาน นอกจากนั้นยังสามารถนำไปวัดในระหว่างการเก็บรักษาลำไยอบแห้งได้ด้วย
สนใจสอบถามได้ที่กลุ่มวิจัยวิศวกรรมหลังการเก็บเกี่ยว สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โทร. 0-2529-0663-4.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=339&contentID=49954
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง