เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 53
นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ได้ทำการวิจัยเศรษฐกิจการผลิต การตลาด และโลจิสติกส์กุ้งก้ามกราม พบว่า ผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยงลดลงร้อยละ 8 จากปีที่ผ่านมา มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาน้ำมันและอาหารกุ้งที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาลูกพันธุ์กุ้งคุณภาพไม่ดี มีอัตราการรอดตายต่ำ เกษตรกรบางส่วนจึงชะลอการเลี้ยง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ส่งผลให้ราคากุ้งที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้นประมาณ ร้อยละ 15 โดยกุ้งขนาด 21-30 ตัว/กก. ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 160 บาท และขนาด 10-20 ตัว/กก. ราคากิโลกรัมละ 220 บาท
ส่วนการศึกษาด้านต้นทุนพบว่า ในช่วง 8 เดือน เกษตรกรผู้เลี้ยงมีต้นทุนทั้งหมดเฉลี่ย 22,260 บาท/ไร่/รุ่น ได้กำไรสุทธิ 14,447 บาท/ไร่/รุ่น หรือ 67 บาท/กก. ในส่วนด้านการตลาดพบว่า ผลผลิตจะถูกส่งไปที่ร้านอาหารถึงร้อยละ 70 ต้นทุนการตลาดส่วนใหญ่เป็นค่าขนส่งกุ้ง ซึ่งต้องให้ออกซิเจน การควบคุมอุณหภูมิของน้ำ ค่าน้ำมันและค่าแรงงานในการดูแลระหว่างการขนส่งเพื่อไม่ให้กุ้งตาย ส่วนในระบบตลาด พบว่า แพกุ้งยังได้รับกำไรสูงสุดถึง 31 บาท/กก. พ่อค้าขายส่งได้กำไร 11 บาท/กก. และพ่อค้าขายปลีกได้กำไร 21 บาท/ กก.
ด้านรูปแบบการเลี้ยงและการจัดการที่เหมาะสม พบว่า การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามร่วมกับกุ้งขาวแวนาไม สามารถลดการสูญเสียอาหารและปัญหาน้ำเน่าเสียที่เกิดจากการหมักหมมของเศษอาหารลงได้ เพราะกุ้งก้ามกรามจะกินเศษอาหารที่ร่วงลงสู่พื้นบ่อ ส่วนการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามร่วมกับปลาทับทิม สามารถวางกระชังปลาทับทิมในบ่อเดียวกับกุ้งก้ามกรามได้เช่นกัน เนื่องจากกุ้งก้ามกรามจะหากินและอาศัยอยู่ก้นบ่อ
นางนารีณัฐกล่าวอีกว่า กุ้งก้ามกรามนับเป็นสินค้าที่มีศักยภาพและมีช่องทางการตลาดที่สดใส ถึงแม้จะเป็นอาหารที่มีราคาแพงแต่กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง หากเกษตรกรสามารถพัฒนาผลผลิตกุ้งที่มีคุณภาพและขนาดตามที่ตลาดต้องการได้ คาดว่าจะเป็นสินค้าที่มีโอกาสที่ดีท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในปัจจุบัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=200553