ตั้งเครือข่ายผู้ปลูกสับปะรดแก้ปัญหาการผลิตและตลาด
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 53
ตั้งเครือข่ายผู้ปลูกสับปะรดแก้ปัญหาการผลิตและตลาด
ปัจจุบันไทยมีเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดราว 38,000 ครัวเรือน กระจายอยู่ 20 จังหวัดทั่วประเทศ ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ คือ เกษตรกรยังขาดความรู้เรื่องเทคโนโลยีการผลิตที่ถูกต้อง ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพต่ำและมีสารเคมี (สารไนเตรท) ตกค้าง ทำให้ผลผลิตถูกส่งกลับหรือถูกตัดราคารับซื้อเป็นประจำ ประกอบกับปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช สารกำจัดวัชพืช อุปกรณ์การเกษตรรวมทั้งค่าจ้างแรงงานมีราคาสูง
นอกจากนี้ ในด้านการจำหน่ายผลผลิตก็ประสบปัญหาเช่นกัน เนื่องจากสับปะรดเป็นพืชอุตสาหกรรม ซึ่งผลผลิตร้อยละ 70 ต้องพึ่งพาโรงงานแปรรูปทำสับปะรดกระป๋องส่งต่างประเทศ ราคาผลผลิตจึงขึ้นอยู่กับโรงงานผู้รับซื้อเป็นผู้กำหนดในบางช่วง เช่น เดือน พ.ค.-มิ.ย. ผลผลิตจะออกสู่ตลาดจำนวนมากทำให้เกิดการกระจุกตัวระยะสั้น ๆ ผู้ซื้อกดราคาหรือไม่รับซื้อผลผลิตในราคาที่เป็นธรรม ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนและเกิดการเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือด้านราคาอยู่เป็นประจำ
นางปาริชาติ ศรีวิพัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงกำหนดนโยบายและแนวทางการส่งเสริมกลุ่มเครือข่ายสับปะรดไว้ในยุทธศาสตร์ สับปะรดที่ผ่านคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ซึ่งมีพลตรีสนั่น ขจรประศาสตร์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยสาระสำคัญของการดำเนินการสนับสนุนด้านกลุ่มเครือข่าย ตามยุทธศาสตร์สับปะรดด้านการผลิต มีมาตรการสนับสนุน คือ
1) พัฒนาสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง ได้แก่ การจัดตั้งกลุ่ม หรือสถาบันเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด มีการฝึกอบรมคณะกรรมการบริหารกลุ่มเรื่องการบริหารจัดการกลุ่ม ฝึกอบรมสมาชิกกลุ่มหรือสถาบันเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดเรื่องกระบวนการทำงาน กลุ่มและประโยชน์ที่ได้รับ จัดทัศนศึกษา ดูงานการผลิตการแปรรูปและการตลาดของคณะกรรมการบริหารกลุ่มหรือสถาบันเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดทั่วประเทศ มีการประชุมกลุ่มหรือสถาบันเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดเป็นประจำทุกเดือน พัฒนากลุ่มผู้ปลูกสับปะรดให้เป็นวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ ตลอดจนประสานแหล่งเงินทุนสนับสนุนกลุ่มหรือสถาบันเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด
2) สร้างและพัฒนาเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มหรือสถาบันเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด โดยจัดตั้งคณะกรรมการกลุ่มหรือสถาบันเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศ และมีการประชุมคณะกรรมการกลุ่มหรือสถาบันเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดทุกระดับ จัดทัศนศึกษาดูงาน การผลิต การแปรรูป การตลาดของคณะกรรมการกลุ่มผู้ปลูกสับปะรดระดับจังหวัด และระดับประเทศ รวมทั้งประชุมสัมมนาแถลงผลงาน และวางแผนดำเนินงานของคณะกรรมการกลุ่มผู้ปลูกสับปะรดระดับจังหวัดและระดับประเทศ
ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตร ให้ความสำคัญกับการ จัดตั้งกลุ่มและการเชื่อมโยงเครือข่ายของเกษตรกร ซึ่งขณะนี้ได้ ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ปลูกสับปะรดแล้วในจังหวัดที่มีการปลูกสับปะรดไม่น้อยกว่า 332 กลุ่ม สนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี สารบังคับดอก สารกำจัดวัชพืชลงสู่กลุ่ม เพื่อให้คณะกรรมการกลุ่มได้แจกจ่ายให้กับสมาชิกและบริหารปัจจัยการผลิตดังกล่าวกลับเข้ามาเป็นเงินทุนหมุนเวียนกลุ่มไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท
หากเกษตรกรมีการรวมกลุ่มเป็นองค์กรที่เข้มแข็งในการจำหน่ายผลผลิต โดยมีการคำนวณต้นทุนการผลิต และกำหนดราคาจำหน่ายผลผลิตอย่างเหมาะสมเป็นธรรมร่วมกันกับโรงงานผู้รับซื้อ ซึ่งเป็นราคากลางที่ยอมรับร่วมกันได้ทั้งสองฝ่ายก็จะไม่เกิดปัญหาด้านราคาตามมา ขณะเดียวกันประโยชน์ที่จะได้รับจากการรวมกลุ่มอีกประการหนึ่งก็คือ การช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการหรือเอกชน หากช่วยเหลือผ่านกลุ่มหรือสถาบันเกษตรกรจะสามารถทำได้ง่ายกว่า ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=345&contentID=50390
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง