เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 53
การนำมูลสัตว์มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายพลังงานในระดับครัวเรือน พร้อมทั้งนำนักวิชาการ รูปแบบเทคนิคการสร้างบ่อฯที่ได้มาตรฐาน ใช้ทุนไม่สูงมาส่งเสริมให้กับชาวบ้านที่สนใจเข้าร่วมโครงการ
จากการที่ราคา "ปิโตรเลียม" ในปัจจุบันปรับเปลี่ยนการซื้อขาย และมีแนวโน้มว่าจะขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหนึ่งมาจากพลังงานแหล่งเดิมเริ่มมีจำนวนลดน้อยถอยลง
หลายๆ ประเทศเริ่มมองหาทางออกด้วยการสำรวจหาแหล่งพลังงานใหม่เพื่อมาทดแทน ทั้งจากแหล่งใต้ดิน บนดินที่คาบเวลานี้ ต่างมุ่งไปที่พืชพลังงานและมูลสัตว์ เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนเป็น "พลังงานทางเลือกใหม่" ให้กับชุมชน ส่งผลให้โครงการต่างๆเกิดขึ้นมากมาย และโครงการพลังงานก๊าซชีวภาพเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เป็นหนึ่งในจำนวนนี้
นายจีระศักดิ์ ตรีเดช หัวหน้านักวิจัยและผู้ประสานงานโครงการพัฒนาองค์กรชุมชนท้องถิ่นในเขตเทือก เขาเพชรบูรณ์ บอกว่า เนื่องจากตำบลหลักด่าน อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ มีที่ตั้งอยู่บนเขาที่ห่างไกลตัวเมือง ทำให้การขนส่งก๊าซหุงต้ม น้ำมัน มีราคาแพงกว่าพื้นที่ราบ ประกอบกับชุมชนแห่งนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะเลี้ยงหมู ซึ่งทุกวันแต่ละฟาร์มทั้งที่เป็นผู้เลี้ยงรายใหญ่ รายย่อยต้องทำความสะอาด ล้างคอก จึงมักมีปัญหาในเรื่องมลภาวะทางกลิ่น และแมลงรบกวนผู้คนในชุมชน
ดังนั้น....เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อีกทั้งให้ ชุมชนพึ่งพาตนเอง จึงชักชวนพร้อมทั้งนำชาวบ้านที่สนใจ ศึกษาดูงานเรื่องของการนำมูลสัตว์ มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายพลังงานในระดับครัวเรือน พร้อมทั้งนำนักวิชาการ รูปแบบเทคนิคการสร้างบ่อฯที่ได้มาตรฐาน ใช้ทุนไม่สูงมาส่งเสริมให้กับชาวบ้านที่สนใจเข้าร่วมโครงการ
นาย สมยศ พรหมพล ผอ.โรงเรียนบ้านห้วยลาดและเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร บอกว่า การเลี้ยงหมูต้องล้างโรงเรือนทุกวัน น้ำที่ไหลทิ้งออกมามักก่อปัญหาเรื่องของกลิ่น แมลงวันรบกวนชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ หลังจากไปศึกษาดูงานจากสถานที่ต่างๆกับทาง สสส. เห็นว่าน่าสนใจจึงรวมกลุ่มกับชาวบ้านสร้างบ่อหมักก๊าซ ตามรูปแบบที่ทางโครงการฯนำมาให้
ในช่วงแรกพลังงานที่ได้จากบ่อหมักจะมีไม่มาก แต่ประมาณ 25-30 วัน หลังขบวนการหมักได้ที่ นอกจากจะได้ก๊าซชีวภาพไว้หุงต้มทำอาหารขายอย่างเพียงพอ จากเดิมที่ต้องซื้อก๊าซเดือนละ 3-4 ถัง แต่พอปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนที่ได้จากบ่อหมัก นอกจากจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 1,000 บาท/เดือน ส่วนมูลสัตว์ที่ผ่านกระบวนการหมักยังนำไปทำเป็นปุ๋ยชีวภาพใช้ในสวนไม้ผล น้ำที่ล้นออกมาจากบ่อก็เอามารดต้นไม้กลายเป็นปุ๋ยน้ำชีวภาพอย่างดี
ผอ.โรงเรียน บ้านห้วยลาด ยังบอกอีกว่า พลังงานทดแทนหลายคนอาจมองว่าเวลานี้ยังเป็นเรื่องที่ห่างไกล ซึ่งความจริงทุกคนต้องช่วยกันเพราะนอกจากเป็นการลดภาวะโลกร้อน ยังลดรายจ่าย ช่วยให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้เหมือนอย่างบ้านหลักด่าน
ที่ทุกวันนี้หลายบ้านสามารถดำรงชีวิต ประกอบอาชีพโดยใช้พื้นฐานของเศรษฐกิจครัวเรือนแบบพอเพียงได้อย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน เพียงเท่านี้ก็สามารถสร้างชุมชนให้เข้มแข็งได้ไม่ยาก
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/66761