แต่งแต้มสีสัน 'กล้วยไม้ไทย' สร้างเส่นห์ตรึงใจทั่วโลก
เมื่อวันที่ 5 มกราคม 52
แต่งแต้มสีสัน 'กล้วยไม้ไทย' สร้างเส่นห์ตรึงใจทั่วโลก
กล้วยไม้ เป็นสินค้าโปรดักส์แชมเปี้ยน (Product Champion) ที่นำรายได้เข้าประเทศสูงมาก โดยเฉพาะกล้วยไม้เมืองร้อนซึ่งปัจจุบันไทยได้ขึ้นชื่อเป็นผู้นำการส่งออกมากที่สุดของโลก โดยมีการส่งออกดอกกล้วยไม้สดปีละกว่า 2,500 ล้านบาท และต้นกล้วยไม้ประมาณ 500 ล้านบาท มีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อิตาลี เนเธอร์แลนด์ จีน ไต้หวันและเกาหลีใต้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การผลิตกล้วยไม้ของไทยยังมีจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไข อาทิ คุณภาพสินค้ายังไม่สม่ำเสมอ ขาดข้อมูลการผลิตการตลาดทั้งในและต่างประเทศ งานวิจัยยังไม่ครบวงจร ไม่มีตลาดกลางมาตรฐานกล้วยไม้ ขณะเดียวกันยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับค่าระวางขนส่งแพง และระบบโลจิสติกส์ (Logistics) ไม่ เอื้ออำนวยด้วย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกกล้วยไม้ไทยไปสู่ตลาดโลกที่มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกล้วยไม้แห่งชาติ กล่าวว่า ปี 2552 นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งขับเคลื่อน “โครงการผลักดันการส่งออกกล้วยไม้” โดยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้ากล้วยไม้ของเกษตรกรและผู้ประกอบการ ไม่น้อยกว่า 1,935 ราย พร้อมเพิ่มขีดความสามารถด้านการตลาดและปรับปรุงระบบบริหารจัดการกล้วยไม้ มีเป้าหมายผลักดันให้ไทยสามารถส่งออกกล้วยไม้ได้มูลค่าปีละ 10,000 ล้านบาท ในปี 2555
เบื้องต้นได้มีแผน ส่งเสริมการปรับปรุงคุณภาพกล้วยไม้สู่มาตรฐานส่งออก เกษตรกรนำร่อง จำนวน 500 ราย อยู่ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ราชบุรี และกรุงเทพฯ โดยจะเร่งสร้างความพร้อมและผลักดันให้เกษตรกรยกระดับฟาร์มกล้วยไม้เข้าสู่ระบบการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เพื่อได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและตรงตามความต้องการของตลาด ทั้งยังจะสร้างทีมเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาสวน GAP จำนวน 50 ราย คอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการสวนที่ดีช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมจะจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ GAP กล้วยไม้ครบวงจรในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เพื่อใช้ในการจัดฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติของเกษตรกร ช่วยส่งเสริมการผลิตกล้วยไม้ในพื้นที่ใหม่ และจะจัดตั้งหมู่บ้านกล้วยไม้ นำร่อง 5 หมู่บ้านใน 5 จังหวัด มีสมาชิก 125 รายด้วย
ขณะเดียวกันยังจะเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาดกล้วยไม้ 300 ราย โดยเปิดเวทีให้ผู้ผลิตได้พบปะกับผู้ส่งออกซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตทราบถึงแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภค เพื่อจะได้วางแผนการผลิตสินค้าได้ตรงตามที่ตลาดต้องการ ขณะที่ผู้ส่งออกก็จะได้ทราบแหล่งผลิตสินค้าที่มีชนิด ปริมาณและคุณภาพตามความต้องการด้วย คาดว่าจะมีการเจรจาธุรกิจและตกลงซื้อขายสินค้า สามารถช่วยขยายช่องทางการตลาดกล้วยไม้ และไม้ดอก ไม้ประดับให้กว้างขวางยิ่งขึ้นทั้งภายในและต่างประเทศ
นายอรรถกล่าวอีกว่า โครงการฯ ยังเตรียมแผน ส่งเสริมการพัฒนาพันธุ์และเทคโนโลยี โดยเกษตรกร ซึ่งได้มอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดสมุทรสาคร จัดหาต้นพันธุ์กล้วยไม้เพิ่มเติม เพื่อขยายฐานพันธุกรรมให้กว้างขึ้นสำหรับการให้บริการเชื้อพันธุ์แก่เกษตรกรใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ ทั้งยังจะเร่งสร้างนักปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้รุ่นใหม่ 3 กลุ่ม จำนวน 60 ราย เพื่อให้ประเทศไทยมีการพัฒนาพันธุ์กล้วยไม้อย่างต่อเนื่อง โดยจะส่งเสริมการจดทะเบียนพันธุ์กล้วยไม้พันธุ์ใหม่ และสนับสนุนการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชตามหลักสากลด้วย
นอกจากนี้ยังจะส่งเสริมด้านการตลาด ซึ่งทางโครงการฯได้เตรียมแผนจัดงานแสดงและประกวดกล้วยไม้ระดับประเทศขึ้นทุกปี เพื่อโชว์ภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำด้านกล้วยไม้ และไม้ดอก ไม้ประดับของไทย อีกทั้งยังจะเร่งรณรงค์และประชาสัมพันธ์การใช้กล้วยไม้ไทยเพื่อประดับตกแต่งสถานที่และในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่กรุงเทพฯ นครปฐม ชลบุรี ราชบุรี เพื่อให้ชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เห็นความหลากหลาย ของสายพันธุ์กล้วยไม้ไทย รวมถึงวิธีการใช้ประโยชน์ในการตกแต่ง อีกทั้งยังจะนำผู้ผลิตและผู้ส่งออกไปร่วมจัดแสดงสินค้ากล้วยไม้หรือจัดโรดโชว์ เจรจาธุรกิจและดูงานการผลิตและการตลาดกล้วยไม้ในต่างประเทศ มีการนำผู้นำเข้ามาดูงานและเจรจาธุรกิจในไทยด้วยเพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทย ซึ่งจะสามารถขยายช่องทางการจำหน่ายและขยายตลาดได้เพิ่มมากขึ้น
“โครงการฯ ได้จัดตั้งศูนย์กล้วยไม้แห่งชาติขึ้น เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกล้วยไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเป็นศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรด้านกล้วยไม้ซึ่งจะใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้สำหรับเกษตรกร รายเดิมและรายใหม่กว่า 900 ราย สามารถนำองค์ความรู้ไปพัฒนาศักยภาพยกระดับการผลิตสินค้ากล้วยไม้ไทยป้อนตลาดทั่วโลก ซึ่งปี 2552 นี้ คาดว่า ไทยจะสามารถผลักดันส่งออกดอกกล้วยไม้มูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 15% และส่งออกต้นกล้วยไม้เพิ่มขึ้นกว่า 20% ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 5 มกราคม 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=186949&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า