เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 52
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
รายงานจากกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุถึงสถานการณ์การระบาดของ
เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังในช่วงเดือนพฤศจิกายน -ธันวาคม 2552 ว่า สถานการณ์ในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 21 จังหวัด พบพื้นที่การระบาดรวม 307,213 ไร่ ซึ่งพื้นที่การระบาดโดยรวมของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 1,791 ไร่ โดยพบจังหวัดที่มีการระบาดใหม่ 1 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ พื้นที่ระบาดรวม 600 ไร่ ส่วนจังหวัดที่พบการระบาดเพิ่มขึ้นมี 2 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ และ ปราจีนบุรี พื้นที่ระบาดเพิ่มขึ้น 1,211 ไร่ รวมพื้นที่ระบาด 2,379 ไร่
ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดยังคงเดิมใน 12 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา สระแก้ว จันทบุรี ระยอง กาญจนบุรี กำแพงเพชร อุทัยธานี ชลบุรี อุตรดิตถ์ ราชบุรี ชัยนาท และฉะเชิงเทรา รวมพื้นที่ระบาด 304,234 ไร่
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังเร่งดำเนินโครงการ การจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง โดยใช้งบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 วงเงินจำนวน 65,660,000 บาท เพื่อจัดการควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งไม่ให้ทำความเสียหายกับผลผลิตและท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง และป้องกันการแพร่กระจายของเพลี้ยแป้งไปยังแหล่งปลูกมันสำปะหลังแหล่งอื่น ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่ปลายปี 2552 ถึงเดือนกันยายน 2553
มาตรการที่จะใช้ดำเนินการประกอบด้วยมาตรการเร่งด่วน คือ
เร่งกำจัดเพลี้ยแป้ง ในพื้นที่ 20 จังหวัดที่มีการระบาด โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง จำนวน 23 หน่วย จัดการรณรงค์กำจัดเพลี้ยแป้งในทุกพื้นที่พร้อมกัน โดยมันสำปะหลังอายุ 1-7 เดือน รณรงค์ให้เกษตรกร ตัดยอดมันสำปะหลังและพ่นสารเคมีหลังตัดยอดสำหรับมันสำปะหลังช่วงระยะเก็บ เกี่ยว คืออายุ 8 เดือนขึ้นไปรณรงค์ให้เกษตรกรจัดการเศษซากมันสำปะหลังหรือตัดยอดในกรณีที่ยังไม่เก็บเกี่ยว และพ่นสารเคมีบนท่อนพันธุ์ที่ยังเก็บรักษาไว้ในแปลง
นอกจากนี้ยังมี
มาตรการเฝ้าระวังการระบาดของเพลี้ยแป้งในพื้นที่ 45 จังหวัดที่มีการปลูกเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเพลี้ยแป้ง โดยการแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีและตรวจสอบท่อนพันธุ์ที่มีการเคลื่อนย้ายโดยชุมชนถ่ายทอดความรู้เรื่องการจัดการเพลี้ยแป้งให้กับผู้เกี่ยวข้อง ผลิตขยายศัตรูธรรมชาติควบคุมเพลี้ยแป้ง ได้แก่ แมลงช้างปีกใส และแตนเบียน Apoamagyrus lopezi จัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน 572 ศูนย์ เพื่อจัดทำแปลงสำรวจสถานการณ์เพลี้ยแป้งและผลิตขยายศัตรูธรรมชาติให้เพียงพอ ที่จะควบคุมเพลี้ยแป้งในพื้นที่ และสร้างความเข้าใจโดยประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ
มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ มีพื้นที่ปลูกใน 45 จังหวัด พื้นที่ประมาณ 7.7 ล้านไร่ มีเกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง 437,496 ครัวเรือน มูลค่าการส่งออกประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาทต่อปี
นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สาเหตุของการระบาดในช่วงนี้เกิดจากสภาพอากาศแห้งและไม่มีฝน ทำให้เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์ของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง โดยเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังเริ่มเจริญเติบโตจากระยะไข่เข้าสู่ระยะตัวอ่อน และทำลายต้นมันสำปะหลังโดยดูดน้ำเลี้ยงจากส่วนยอด ทำให้ยอดหงิกงุ้ม ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ ออกให้คำแนะนำในการป้องกันกำจัดแก่เกษตรกรในพื้นที่แล้ว โดยการป้องกันเกษตรกรจะต้องเรียนรู้วงจรชีวิตและพฤติกรรมของเพลี้ยแป้ง ส่วนการจัดการท่อนพันธุ์จะต้องคัดกิ่งพันธุ์ที่สมบูรณ์ แข็งแรง และชุบก่อนปลูกด้วยสารเคมีก่อนปลูก ได้แก่ Thiamethoxam (ชื่อการค้า แอคทารา) อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 25 ลิตร แช่ประมาณ 5-10 นาที และห้ามเคลื่อนย้ายกิ่งพันธุ์จากแหล่งระบาดไปสู่แหล่งที่ยังไม่มีแมลงระบาด จะเป็นการกระจายเพลี้ยแป้งไปสู่แหล่งปลูกอื่น ๆ รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการฉีดสารเคมี เพื่อป้องกันแมลงศัตรูของเพลี้ยแป้งที่มีอยู่ในธรรมชาติ
ส่วนการควบคุมเกษตรกรต้องเร่งตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอทุก ๆ 2-4 สัปดาห์ โดยหมั่นสำรวจเพื่อกำหนดจุดเริ่มระบาดของเพลี้ยแป้ง เมื่อพบจุดเริ่มแพร่ระบาดให้หักยอด และทำลายกิ่งที่ถูกเพลี้ยแป้งเข้าทำลาย แล้วปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แตนเบียน หรือตัวห้ำ ได้แก่ แมลงช้างปีกใส รวมทั้งต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
หากมีข้อสงสัยขอคำปรึกษาปัญหาการระบาดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอสำนักงานเกษตร จังหวัด ศูนย์บริหารศัตรูพืชที่อยู่ใกล้บ้านหรือศูนย์ปฏิบัติการควบคุมการระบาด เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง กรมส่งเสริมการเกษตร โทร.0-2579-5178, 0-2579-0280.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 29 ธันวาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=39851
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า