ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 52
ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
ในรอบปี พ.ศ. 2552 ที่กำลังจะผ่านไปท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย อาชีพเกษตรกรรมของเกษตรกรไทยได้รับผลกระทบไปด้วย เนื่องจากกำลังซื้อของคนน้อยลง คนไทยจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนอาชีพมาทำการเกษตรแบบยังชีพหรือเป็นรายได้เสริมกันมากขึ้น โดยเฉพาะอาชีพที่สร้างรายได้เร็วและลงทุนไม่มาก อาทิ การเพาะถั่วงอก, การเพาะเห็ดชนิดต่าง ๆ, การปลูกพืชผักสวนครัว ฯลฯ แต่เป็นที่สังเกตว่าเกษตรกรที่ปลูกมะนาวในเชิงพาณิชย์ในรอบปี พ.ศ. 2552 ที่กำลังจะผ่านไปกลับเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ดีมาก โดยปกติแล้วมะนาวที่มีขายในท้องตลาดจะมีราคาถูกในช่วงฤดูฝนและมีราคาแพงที่สุดในช่วงฤดูแล้งคือช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน แต่ในปีนี้มะนาวมีราคาแพงตลอดทั้งปี ในช่วงฤดูฝนเกษตรกรขายมะนาวแป้นรำไพขนาดจัมโบ้ จากสวนได้ราคาถึงผลละ 2 บาท ทำให้เกษตรกรที่ปลูกมะนาวมีรายได้ที่ดีกว่าเกษตรกรรมประเภทอื่น ๆ อย่างไรก็ตามในการปลูกมะนาวให้ประสบผลสำเร็จ จำเป็นจะต้องมีการบำรุงรักษาและดูแลเป็นอย่างดี
ในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา “มะม่วงน้ำดอกไม้” ของไทยมีเกษตรกรได้ขยายพื้นที่ปลูกมากที่สุดชนิดหนึ่ง เนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีการส่งออกเกือบทั้งหมดทั้งในรูปแบบผลสด, แช่แข็ง ฯลฯ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองของไทยเกรดเอที่ผิวสวย, คุณภาพดี และปลอดจากพิษตกค้างเกรดเอมีราคาขายส่งจากสวนได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 40-50 บาท ส่งไปขายนับล้านกิโลกรัมในหลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นรับซื้อมากที่สุด อย่างไรก็ตามการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อการส่งออกของไทยในปัจจุบัน จะต้องมีการปรับตัวและมีการรวมกลุ่มกันให้เข้มแข็งในเรื่องของการผลิตมะม่วงให้ได้คุณภาพและมีบางประเทศได้นำกิ่งพันธุ์มะม่วง น้ำดอกไม้สีทองไปปลูกนับแสนต้น ซึ่งอาจจะเป็นคู่แข่งขันในอนาคตได้ ในขณะที่มีเกษตรกรบางรายได้ปลูกมะม่วงพันธุ์ต่างประเทศเพื่อการส่งออก เช่น พันธุ์อาร์ทูอีทู ซึ่งเป็นพันธุ์มะม่วงของประเทศออสเตรเลีย แต่นำมาปลูกในประเทศได้ผลผลิตมีคุณภาพดีไม่แพ้ที่ปลูกในออสเตรเลีย ที่สำคัญผลผลิตมะม่วงอาร์ทูอีทูที่ปลูกในบ้านเราออกสู่ตลาดไม่ตรงกับที่ปลูกในออสเตรเลีย จึงไม่ต้องแข่งขันในเรื่องการตลาด หลายคนยังไม่ทราบว่ามะม่วงอาร์ทูอีทูที่ปลูกในประเทศไทยและผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ถ้าเป็นมะม่วงเกรดเอที่มีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 800 กรัม มีราคาจากสวนเฉลี่ยกิโลกรัมละ 50-60 บาท และราคาดีตลอดฤดูกาล ดังนั้นการขยายพื้นที่ปลูกมะม่วงอาร์ทูอีทูของเกษตรกรไทย น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการปลูกมะม่วงไทยในอนาคต
ในรอบปี พ.ศ. 2552 ที่กำลังจะผ่านไป ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูงานทางด้านการเกษตรเกี่ยวกับผลไม้ในต่างประเทศ 2 ครั้ง ครั้งแรกไปดูงานการเกษตรที่ไต้หวัน เมื่อพูดถึงความก้าวหน้าทางด้านการเกษตรในทวีปเอเชียด้วยกันแล้ว จะต้องยอมรับว่าไต้หวันมีความก้าวหน้ามากถ้าจะเปรียบเทียบระดับโลก “ไต้หวัน” ก็ไม่น้อยหน้าใคร หัวใจสำคัญที่ทำให้ชาวสวนผลไม้ไต้หวันขายผลผลิตได้ราคาดีและมีสภาพความเป็นอยู่ดีกว่าชาวสวนผลไม้ไทย เนื่องจากรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนอย่างจริงจังทั้ง ภาคการผลิตและการตลาด ภาคการผลิตมีการจัดการแหล่งน้ำที่ดีและการคมนาคมที่มีความสะดวก ภาคการตลาดมีการรวมตัวของชาวสวนผลไม้เป็นสหกรณ์ที่มีความเข้มแข็งทำให้สามารถสร้างอำนาจต่อรองการขายผลผลิตได้ มีตลาดกลางหลายแห่งที่ให้ชาวสวนผลไม้ นำผลไม้มาเข้าร่วมประมูล ยิ่งเมื่อได้ศึกษาประวัติศาสตร์ทางการเกษตรของไต้หวันพบว่ามีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างง่าย ๆ ในอดีตไต้หวันได้นำพันธุ์ฝรั่งจากประเทศไทยไปทดลองปลูกและปรับปรุงพันธุ์จนได้สายพันธุ์ฝรั่ง คุณภาพดีที่มีเมล็ดน้อยและเมล็ดนิ่ม เช่น พันธุ์เซิ่นจู ซึ่งมีรสชาติอร่อยมาก มีเกษตรกรไทยได้นำพันธุ์มาปลูกในบ้านเราในเชิงพาณิชย์ประสบความสำเร็จหลายรายและมีการขยายพื้นที่ปลูกเชิงพาณิชย์ หรือแม้แต่การปลูกแตงโมจะต้องยอมรับว่ารสชาติแตงโมที่ปลูกในไต้หวันอร่อยมาก และสายพันธุ์แตงโมก็มีความหลากหลาย ที่เห็นเด่นมากเป็นพิเศษ คือแตงโมยักษ์ของไต้หวันมีน้ำหนักผลเกือบ 20 กิโลกรัม หลายคนอาจจะมองว่าถ้านำมาปลูกในบ้านเราจะนำไปส่งขายที่ไหน ถ้าเรามีความสามารถที่จะผลิตแตงโมที่มีขนาดผลใหญ่มาก ๆ ได้และมีรสชาติดีสามารถส่งขายตามโรงแรมชั้นนำในกรุงเทพมหานครหรือนำมาผลิตเป็นน้ำแตงโมสดได้ ทางแผนกฟาร์มของชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร ได้นำเมล็ดแตงโมยักษ์ไต้หวันมาทดลองปลูก 2-3 รุ่น ได้ผลผลิตที่มีน้ำหนักผลและคุณภาพความอร่อยไม่แตกต่างจากที่ปลูกในไต้หวัน หรือแม้แต่การผลิตแตงโมสี่เหลี่ยมของไต้หวันก็มีคุณภาพไม่แพ้ญี่ปุ่น
จะว่าไปแล้วเมื่อพูดถึงการผลิตผลไม้เมืองร้อนของไทยไม่แพ้ประเทศอื่น ชาวสวนผลไม้ไทยจะเก่งในเรื่องของการผลิต แต่ไม่เก่งในเรื่องของการตลาด ในงานแสดงสินค้าผักและผลไม้ระดับเอเชีย ปี 2009 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ที่ฮ่องกง มีหลายประเทศมีการนำผักและผลไม้ที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมมานำเสนอและมีการเจรจาค้าขายกัน อย่างกรณีบูธของประเทศอินโดนีเซียมีคนให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีประชาสัมพันธ์สาวสวยระดับนางงามคอยแนะนำผลไม้เด่นของประเทศคือ “สาลัค” ซึ่งเป็นผลไม้ในสกุลเดียวกับสละและระกำของไทย ประเทศอินโดนีเซียจะเน้นการส่งออกสาลัคซึ่งจัดเป็นผลไม้แปลกและหายากที่ผ่านมาตรฐาน GAP (เกษตรดีที่เหมาะสม) ปัจจุบันอินโดนีเซียผลิตสาลัคได้เฉลี่ยปีละ 5 ล้านตัน
การผลิตผลไม้คุณภาพดีเพื่อขายในตลาดท้องถิ่นเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของชาวสวนผลไม้ไทยในอนาคต รูปแบบของการปลูกไม้ผลในอนาคตจะต้องทำแบบสวนผสมเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางด้านการตลาดอย่างกรณีของเกษตรกรบางรายปลูกพุทราไต้หวันในพื้นที่ 1 ไร่ เก็บผลผลิตขายในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคมได้เงินนับแสนบาทต่อปี, ปลูกมะนาวพันธุ์แป้นดกพิเศษในวงบ่อซีเมนต์จำนวน 50 บ่อ และบังคับให้ออกฤดูแล้ง ขายผลผลิตได้ผลละหลายบาท ในขณะพื้นที่รอบสวนอาจจะปลูกตะขบยักษ์ไร้หนาม ซึ่งจัดเป็นไม้แดดและมีการเจริญเติบโตได้เร็วมาก ที่สำคัญตะขบยักษ์มีผลขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับผลมะนาว ขายจากสวนได้ถึงกิโลกรัมละ 30 บาท มีกลุ่มคนเฉพาะที่ชอบบริโภคเนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารสูง ในอดีตมีคำแนะนำให้นำกล้วยหินซึ่งเป็นกล้วยพื้นเมืองของภาคใต้มาปลูกเพื่อ เป็นแนวกันลม เนื่องจากมีต้นขนาดใหญ่กว่ากล้วยทั่วไป ปัจจุบันนอกจากจะช่วยป้องกันลมแล้ว ผลผลิตกล้วยหินยังนำมาจำหน่ายได้ราคาไม่แพ้กล้วยน้ำว้า แนวทางการแบ่งพื้นที่เพื่อปลูกไม้ผลหลากหลายชนิดและมีช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด ในช่วงเวลาที่แตกต่างกันจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการทำสวนผลไม้ในอนาคต เข้าตำราที่ว่า “ทำน้อยได้มากทำมากได้น้อย”
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 30 ธันวาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=339&contentID=40016
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า