โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 52
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
ปีพ.ศ. 2553 กระทรวงเกษตรฯ มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จัดทำ “
ระบบตรวจรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม” เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศได้เข้าสู่ระบบการรับรองฟาร์มมาตรฐานจีเอพี (GAP) เพิ่มขึ้น ซึ่งเบื้องต้นได้มีแผนดำเนินโครงการตรวจรับรองฟาร์มแบบกลุ่มนำร่องในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ สุโขทัย ขอนแก่น นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ราชบุรี พัทลุง และสงขลา รวม 12 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชผัก กล้วยไข่ กลุ่มผู้ผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก กลุ่มผู้ปลูกข่า และกลุ่มผู้ปลูกกล้วยไม้เพื่อการส่งออก สมาชิกรวมไม่น้อยกว่า 400 ราย
นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ผู้อำนวยการ มกอช. กล่าวว่า โครงการฯ ดังกล่าว มุ่งส่งเสริมให้สมาชิกจัดทำระบบควบคุมภายในแบบกลุ่ม ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาขึ้นตามแนวทางสากล เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อใช้ควบคุมการผลิตและพัฒนาคุณภาพสินค้าของกลุ่มได้ โดยสมาชิกกลุ่มจะได้รับการรับรองฟาร์มมาตรฐานจีเอพี พร้อมกันทั้งหมด คาดว่าจะสามารถช่วยขยายผลและเพิ่มจำนวนฟาร์มที่ได้มาตรฐานจีเอพีรวดเร็วขึ้น อันจะส่งผลให้ผลิตผลของกลุ่มเกษตรกรได้รับความเชื่อถือและยอมรับในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหาร ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าได้ ตลอดจนช่วยลดภาระภาครัฐในการตรวจรับรองฟาร์มด้วย
ปัจจุบัน มกอช.ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินโครงการส่งเสริมการสร้างที่ปรึกษาเกษตรกรและการจัดทำระบบควบคุมภายในสำหรับกลุ่มเกษตรกร เพื่อพัฒนาการจัดทำระบบประกันคุณภาพที่มีเอกสารประกอบ โดยหน่วยรับรองภายนอกจะมอบหมายให้กลุ่มเกษตรกรทำหน้าที่ตรวจแปลงสมาชิกภายในกลุ่มแต่ละรายเป็นประจำทุกปี หรือเรียกว่า ระบบควบคุมภายในแบบกลุ่ม ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM)
สำหรับกระบวนการพัฒนาที่ปรึกษาเกษตรกรแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ กระบวนการพัฒนาระบบขององค์กรหรือกลุ่ม ได้แก่ เน้นการปรับโครงสร้างคณะกรรมการเดิมของกลุ่มและการจัดทำระบบเอกสารภายในกลุ่มให้มีรูปแบบที่เหมาะสมเป็นที่ยอมรับของสมาชิกและสอดคล้องกับมาตรฐาน สากลให้เกษตรกรที่รับผิดชอบสามารถปฏิบัติงานได้ตามที่ระบุไว้ในเอกสารระบบควบคุมภายในประจำกลุ่ม เช่น คู่มือการจัดการระบบควบคุมภายในและแบบฟอร์มต่าง ๆ ที่ใช้ในกลุ่ม
นอกจากนั้นยังมีกระบวนการพัฒนาองค์ความรู้ที่ปรึกษาเกษตรกรและเกษตรกร/จีเอพี อาสา ด้านระบบคุณภาพและเทคนิคการผลิต เช่น การจัดหลักสูตรฝึกอบรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับกลุ่มเป้าหมายโดยการพัฒนาทั้งสองกระบวนการ ต้องดำเนินควบคู่กันไปและให้สอดคล้องกัน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อฝึกให้เกษตรตำบลสามารถทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กลุ่มเกษตรกรในการจัดทำระบบไอซีเอสได้ ขณะที่สมาชิกของกลุ่มก็จัดทำระบบไอซีเอสไปพร้อมกัน ผลที่ได้คือความยั่งยืนของระบบไอซีเอสของกลุ่มเกษตรกรที่สามารถรักษาระบบให้อยู่ได้ โดยมีเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาแนะนำกระทั่งกลุ่มเกษตรกรมีความพร้อมที่จะยื่นขอการรับรองฟาร์มมาตรฐานจีเอพีแบบกลุ่มจากกรมวิชาการเกษตร
ขณะนี้ทุกกลุ่มกำลังดำเนินการทดลองใช้คู่มือการจัดการระบบควบคุมภายใน และแบบฟอร์มบันทึกต่าง ๆ คาดว่าภายในกลางปี พ.ศ. 2553 กลุ่มนำร่องจะสามารถขอยื่นการรับรองฟาร์มมาตรฐานจีเอพีแบบกลุ่มจากกรมวิชาการเกษตรและคาดว่าจะเป็นต้นแบบนำไปขยายผลสู่เกษตรกรทั่วประเทศได้ โดยเฉพาะแปลงเกษตรกรรายย่อยที่มีความต้องการเข้าสู่ระบบฟาร์มมาตรฐาน จีเอพี เพิ่มขึ้น.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 28 ธันวาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=39693
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า