มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 52
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า
ตลอดฤดูฝนประจำปี 2552 ที่กำลังจะผ่านไป นับเป็นปีทองของเกษตรกรผู้ปลูกมะนาวทั่วประเทศ เนื่องจากราคาขายมะนาวจากสวนได้ราคาถึงผลละ 2 บาท ซึ่งปกติแล้วราคามะนาวในช่วงฤดูฝนจะมีราคาถูกมาก ทำให้ชาวสวนมะนาวรวยไปตาม ๆ กันท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ด้วยมะนาวราคาแพงเช่นนี้จะทำให้เกษตรกรหลายรายเตรียมจะขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้น แต่ก่อนตัดสินใจปลูกเกษตรกรจะต้องพิจารณาเรื่องสายพันธุ์ให้ดี
ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องสายพันธุ์มะนาวที่ปลูกในประเทศขณะนี้จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ พันธุ์ทะวายและพันธุ์ธรรมดา พันธุ์ทะวายหมายถึงพันธุ์ที่มีการออกดอกง่ายออกเกือบตลอดทั้งปีและมีการทยอยออกหลายรุ่นในฤดูเดียวกัน นอกจากนี้ยังสามารถกระตุ้นให้ออกนอกฤดูได้ง่าย สำหรับสายพันธุ์ทะวายส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์แป้น อาทิ พันธุ์แป้นรำไพ, แป้นจริยา, แป้นพวง ฯลฯ สำหรับพันธุ์ธรรมดาหรือพันธุ์ทั่วไป เช่น ตาฮิติ (ตาฮิติ จัดเป็นมะนาวสายพันธุ์ต่างประเทศที่ไม่มีเมล็ดและค่อนข้างต้านทานต่อโรคแคงเคอร์ แต่คนไทยไม่ค่อยนิยมบริโภคเพราะน้ำไม่หอม), มะนาวน้ำหอมและมะนาวไร้เมล็ด เป็นต้น มะนาวในกลุ่มนี้ผลจะมีขนาดใหญ่และกระตุ้นให้ออกดอกยากกว่ามะนาวพันธุ์แป้นรำไพและมีจำนวนผลต่อต้นน้อยกว่า
ในกลุ่มของมะนาวพันธุ์แป้นรำไพพบว่ามีเกษตรกรได้ทำการคัดเลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงและมีลักษณะพิเศษออกไปคือ ผลใหญ่, เปลือกบาง ให้ผลผลิตดกมากและติดผลเป็นพวง ที่สำคัญมีปริมาณน้ำมาก, หอมและมีรสชาติเหมือนกับมะนาวแป้นรำไพทุกประการและได้มีการตั้งชื่อพันธุ์ว่า
พันธุ์แป้นดกพิเศษ ปัจจุบันพันธุ์แป้นดกพิเศษ เริ่มมีเกษตรกรได้นำพันธุ์ไปขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้นแต่ส่วนใหญ่เจ้าของจะหวงพันธุ์ และถ้าจะให้ต้นมะนาวมีความสมบูรณ์และแข็งแรงควรจะใช้ต้นพันธุ์ที่ได้จากการต่อยอดหรือติดตาบนต้นตอส้มต่างประเทศ เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตดกมากและติดเป็นพวง มีความดกกว่ามะนาวพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า ในอายุต้นที่เท่ากัน อย่างไรก็ตามในการให้ปุ๋ยและน้ำอย่างสมบูรณ์มีความจำเป็นกับการผลิตมะนาวพันธุ์แป้นดกพิเศษ
ที่ผ่านมานอกจากจะคัดเลือกสายพันธุ์มะนาวที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกแล้ว ในการผลิตมะนาวให้ออกฤดูแล้ง เกษตรกรส่วนใหญ่ มักจะมีความผิดพลาดในเรื่องของการลงทุน เมื่อถึงช่วงเวลาราคามะนาวถูก เกษตรกรมักจะไม่บำรุงรักษาเท่าที่ควร มะนาวยังจัดเป็นพืชที่มีความต้องการอาหารที่สมบูรณ์ ถ้าต้นมะนาวขาดความสมบูรณ์ การผลิตมะนาวให้ออกฤดูแล้งก็ล้มเหลวตามไปด้วย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 ธันวาคม 2552
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=482&contentID=39428
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า