เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 52
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนทั่วไปกำลังเกิดความสับสนเกี่ยวกับประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมในราชกิจจานุเบกษาเรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2552 มีผลบังคับใช้วันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ดูแล โดยบัญชีแนบท้ายของประกาศดังกล่าวกำหนดให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืช ซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเฉพาะที่นำไปใช้ป้องกันกำจัด ทำลาย ควบคุม แมลง วัชพืช โรคพืช ศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืช ได้แก่ สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และหนอนตายหยาก เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ซึ่งยืนยันว่าจะไม่กระทบกับวงการพืชสมุนไพรไทยแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย มาตรา 18 ได้กำหนดประเภทวัตถุอันตรายไว้ 4 ชนิดคือ ชนิดที่ 1 วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเมื่อจะจำหน่าย 2. วัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียน 3. วัตถุอันตรายที่ต้องควบคุมอย่างเข้มข้น ทั้งขึ้นทะเบียนและทดสอบความเป็นพิษ และ 4. วัตถุอันตรายที่ห้ามไม่ให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครอง จะเห็นว่าพืชทั้ง 13 ชนิดที่ประกาศเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 นั้นเป็นชนิดที่ควบคุมระดับต่ำที่สุดหรือผ่อนคลายที่สุด เพราะกำหนดให้แจ้งเมื่อจะผลิตเพื่อจำหน่ายเท่านั้น ไม่ได้เข้าไปควบคุมให้ต้องขึ้นทะเบียนหรือทดสอบทางพิษวิทยาแต่อย่างใด “ที่ผ่านมาไม่ได้กำหนดให้พืชทั้ง 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 จึงเกิดปัญหาว่าเมื่อจะผลิตเพื่อการค้า เช่น สะเดากำจัดศัตรูพืช จะต้องผ่านกระบวนการทดสอบทางพิษวิทยา และมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก เหมือนกับการทดสอบสารเคมีตัวหนึ่งแต่เมื่อประกาศเป็นประเภทที่ 1 เพียงแค่แจ้งว่าจะผลิตเพื่อจำหน่าย ก็สามารถดำเนินการได้ทันที เป็นการอำนวยความสะดวกให้พืชสมุนไพรที่จะผลิตเป็นยากำจัดศัตรูพืชวางตลาดได้มากที่สุดด้วยซ้ำ และยังป้องกันไม่ให้เกิดการหลอกลวงผู้บริโภค เช่น นำพืชมาบดใส่ถุงจำหน่ายแล้วอ้างว่าสามารถกำจัดศัตรูพืชได้ เป็นต้น”
ด้านนายจิรากร โกศัยเสวี รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรกำลังอยู่ระหว่างจัดทำแบบฟอร์มเพื่อเสนอเป็นประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยระบุให้ผู้ที่จะทำผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชจากพืชทั้ง 13 ชนิดเพื่อจำหน่าย จะต้องกรอกรายละเอียดของส่วนผสมเบื้องต้น และต้องมีชื่อทางการค้า สถานที่ผลิต ปริมาณ ชื่อสารที่มีอยู่ในพืชชนิดนั้น อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้ผลิตเพื่อการค้า แต่ผลิตเพื่อใช้เองหรือใช้ภายในกลุ่มก็ไม่ต้องแจ้ง หรือใช้ในวงการอื่น เช่น เป็นยาสมุนไพร เสริมสวย เพื่อสุขภาพหรือบริโภค ก็ไม่ต้องแจ้งเช่นกัน เพราะระบุไว้ชัดเจนแล้วว่าผลิตเพื่อกำจัดศัตรูพืช โรคพืช หรือควบคุมการเติบโตของพืชเท่านั้นที่ต้องแจ้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า คงต้องติดตามการประกาศเพิ่มเติมของกระทรวงเกษตรฯต่อไป ว่าจะมีรายละเอียดที่กำหนดให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช จากพืชทั้ง 13 ชนิดต้องระบุหรือปฏิบัติอย่างไรบ้าง เนื่องจากประกาศดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการเติบโตของกระบวนการกำจัดศัตรูพืชโดยใช้เกษตรอินทรีย์โดยตรง และเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบกำจัดศัตรูพืชที่ใช้สารเคมีแบบเก่า
ส่วนนายรัชดา สิงคลาวณิช อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวชี้แจงถึงกรณีที่มีการประกาศพืชสมุนไพรไทย 13 ชนิดขึ้นบัญชีเป็นวัตถุอันตรายว่า การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปตามความประสงค์ของกรมวิชาการเกษตร เนื่องจากมีการร้องเรียนให้มีการควบคุม เนื่องจากเกรงว่าจะมีการนำสารเคมีอื่นๆมาปะปนแล้วเป็นอันตรายต่อบุคคล พืชและสัตว์ รวมถึงสิ่งแวดล้อม “ผมมองว่าในเชิงการจัดการคุณภาพ ก็เห็นว่าเรื่องดังกล่าวควรทำให้ถูกต้อง เพราะหากมีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน แล้วนำมาผลิตเพื่อการส่งออก ก็จะทำให้ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดจะไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรมแต่อย่างใด เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในการดูแลจากนี้ คือกรมวิชาการเกษตร”.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.thairath.co.th/news.php?section=economic&content=123183