เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 52
ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้จัดทำโครงการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตร 4 ชนิดที่มีราคาตกต่ำ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน
โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรจดทะเบียนเกษตรกรที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ และให้องค์การคลังสินค้า(อคส.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ร่วมกันรับผิดชอบเป็นผู้รับจำนำสินค้าชนิดดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้จำหน่ายพืชผลทางการเกษตรได้ในราคาที่เหมาะสม โดยใช้งบประมาณดำเนินการรวมทั้งสิ้น 118,600 ล้านบาท
อรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า หลังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้กรมเร่งจดทะเบียนผู้ปลูกข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมันเพื่อให้เกษตรกรใช้เป็นหลักฐานในการเข้าร่วมโครงการรับจำนำผลผลิตการเกษตร เบื้องต้นได้เปิดจุดรับขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่สำนักงานเกษตรอำเภอ และศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลทั่วประเทศ พร้อมออกใบรับรองเกษตรกรที่มายื่นจดทะเบียนด้วย โดยเน้นให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเกษตรกร รวมถึงพื้นที่ปลูกจริงอย่างถูกต้อง รวดเร็ว โปร่งใส ทันต่อสถานการณ์ และตรวจสอบได้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรให้ดีที่สุด
ปัจจุบันได้ออกใบรับรองเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ฤดูกาลผลิต 2551/2552 แล้วทั้งสิ้น 455,380 ราย ผลผลิต 8,303,679 ตัน ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 143,204 ราย ผลผลิตประมาณ 2,903,915 ตัน ผู้ปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 111,583 ราย ผลผลิต ประมาณ 15,346,991 ตัน และผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน จำนวน 11,233 ราย ผลผลิต 100,153 ตัน
"การรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2551/2552 รัฐบาลได้มีเป้าหมายรับจำนำ 8 ล้านตันข้าวเปลือก โดยกำหนดราคารับจำนำ ณ ความชื้นไม่เกิน 15% ในส่วนของข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาตันละ 1.5 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเจ้านาปี ตันละ 1.2 หมื่นบาท ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 1 หมื่นบาท โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะจำนำได้ในวงเงินรายละไม่เกิน 5 แสนบาท"
ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อรรถเผยว่า ครม.ได้มีมติให้ขยายช่วงระยะเวลาการรับจำนำถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 นี้ ในปริมาณรับจำนำ 7.5 แสนตัน โดยกำหนดราคารับจำนำที่ความชื้นไม่เกิน 14.5% กิโลกรัมละ 8.50 บาท วงเงินรับจำนำรายละไม่เกิน 1 แสนบาท ทั้งนี้เพื่อช่วยรักษาผลประโยชน์และยกระดับราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในท้องตลาดให้สูงขึ้นจาก 4-6 บาทต่อกิโลกรัม
"มันสำปะหลังรัฐมีเป้าหมายจำนวน 5 ล้านตัน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551-เมษายน 2552 โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ กำหนดไว้ที่ 1.95 บาทต่อกิโลกรัม หัวมันสดต้องมีเปอร์เซ็นต์แป้ง 25% ส่วนเดือนมีนาคม ราคาแทรกแซงอยู่ที่กิโลกรัมละ 2 บาท และเดือนเมษายน ราคากิโลกรัมละ 2.05 บาท ขณะที่ราคาซื้อขายหัวมันสดในท้องตลาดอยู่ที่ 1.30-1.50 บาทต่อกิโลกรัม"
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรระบุอีกว่า ส่วนน้ำมันปาล์มดิบ ปี 2551/2552 ภาครัฐได้กำหนดเป้าหมายจำนวน 1 แสนตัน โดยเกษตรกรในโครงการสามารถขายผลปาล์มสดให้แก่โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่เข้าร่วมโครงการได้ไม่เกินรายละ 12.5 ตันต่อเดือน ราคาแทรกแซงอยู่ที่ 3.50 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ทะลายปาล์มสดต้องมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันไม่ต่ำกว่า 17%
ด้าน พรศักดิ์ ประทุมตัง ชาวนาวัย 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 5 หมู่ 3 บ้านนุ่น ต.ราษฎร์เจริญ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2551/52 บอกว่า เบื้องต้นได้สมัครเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกฯกับสำนักงานเกษตรอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย โดยต้องแจ้งปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิที่จะจำนำ ซึ่งสำนักงานเกษตรอำเภอได้ออกใบรับรองเกษตรกรให้ จากนั้นก็นำใบรับรองเกษตรกรไปยื่นที่ ธ.ก.ส.เพื่อรับเอกสารการรับจำนำใบประทวน โดย ธ.ก.ส.จะแจ้งชื่อโรงสีและร้านค้าในพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการ
ชาวนารายเดิมระบุอีกว่า จากนั้นโรงสีจะเป็นผู้ตีราคาข้าวเปลือกที่นำไปขาย ขึ้นอยู่กับน้ำหนัก คุณภาพและความชื้นของข้าวเปลือก หากความชื้นไม่เกิน 15% จะได้ราคาอยู่ที่ตันละ 1.5 หมื่นบาท จากนั้นก็นำใบตีราคาจากโรงสีไปติดต่อขอรับเงินได้ที่ ธ.ก.ส. ซึ่งปีนี้ตนได้จำนำใบประทวนข้าวเปลือกหอมมะลิจำนวน 9.36 ตัน คิดเป็นมูลค่า 140,400 บาท ในอนาคตต้องการให้รัฐบาลจัดทำโครงการนี้ต่อเนื่องไปอีก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องต่อสู้กับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น
“การที่ภาครัฐมีมาตรการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตรที่มีปัญหาราคาตกต่ำ เป็นทางออกที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ดีมาก เพราะขายผลผลิตได้ในราคาสูงโดยไม่ต้องวิ่งหาตลาด ทั้งยังไม่ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางด้วย ทำให้ได้ผลตอบแทนคุ้มค่าการลงทุนด้วย” พรศักดิ์ กล่าวในที่สุด
อย่างไรก็ตามมาตรการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตรทั้ง 4 นี้ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรให้ขายผลผลิตได้ในราคาเหมาะสม คุ้มค่าต่อการลงทุน ทั้งยังช่วยกระตุ้นราคาผลผลิตการเกษตรให้สูงขึ้น ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.komchadluek.net/2009/02/16/x_agi_b001_337084.php?news_id=337084