โครงการ 'ปุ๋ยสั่งตัด' วาดฝัน ลดต้นทุนการผลิตในยุคข้าวยากหมากแพง
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 52
โครงการ 'ปุ๋ยสั่งตัด' วาดฝัน ลดต้นทุนการผลิตในยุคข้าวยากหมากแพง
ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือถือว่าเป็นปัจจัยที่ 5 สำหรับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในโลกปัจจุบันไปโดยปริยาย จึงทำให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้นำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาในรูปแบบของการปรับลดความสิ้นเปลืองในยุคข้าวยากหมากแพง ต้นทุนการผลิตแพง ซึ่งเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้เกษตรกรเกิดการยอมรับระบบการผลิตที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อตนเองได้ในปัจจุบันและอนาคต
ดังนั้นการปรับลดความสิ้นเปลืองที่กำลังพูดถึงนั้นคือ การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวมากเกินความจำเป็น การใช้ปุ๋ยเคมีแบบครอบจักรวาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถลดปริมาณการใช้ลงได้แต่เราจะบอกกับเกษตรกรอย่างไรเท่านั้นเองที่จะให้เขาลดปริมาณการใช้นั้น และสิ่งนี้คือที่มาของปุ๋ยสั่งตัด หรือการใส่ปุ๋ยตามการวิเคราะห์ค่าดิน ในรูปแบบโครงการ ALRO Cyber Brain (หมายเหตุ ALRO ย่อมาจาก Agricultural Land Reform Office) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ม.เกษตรศาสตร์และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติโดยได้ร่วมมือกันพัฒนาระบบปุ๋ยสั่งตัดผ่านมือถือ (เอสเอ็มเอส) แก่เกษตรกร เพื่อแนะนำสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเฉพาะราย
นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการ ส.ป.ก.กล่าวว่า ส.ป.ก.ได้เสนอวิธีการแก้ไขปัญหาในรูปแบบการปรับลด 4 ความสิ้นเปลือง ซึ่งเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้เกษตรกรเกิดการยอมรับระบบการผลิตที่เหมาะสมและมีประโยชน์และคุณภาพต่อไปในอนาคต โดยการปรับลดความสิ้นเปลืองด้านเมล็ดพันธุ์ข้าว การปรับโครงสร้างของดิน ด้านการใช้ปุ๋ยเคมี และด้านการใช้สารเคมี เพื่อป้องกันศัตรูพืช โดยมีเป้าหมายเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวในเขตปฏิรูปที่ดิน 1 ล้านไร่ มีเกษตรกร 50,000 ราย ซึ่งเกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 510 บาทต่อไร่ ต่อฤดูกาลผลิต หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 510 ล้านบาทต่อปี
สำหรับขั้นตอนการปรับลดความสิ้นเปลืองนั้น องค์ประกอบหลัก เป็นการบริหารจัดการดินให้มีศักยภาพมากขึ้น โดย ส.ป.ก.ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้สูตรปุ๋ยและปริมาณปุ๋ยตามการวิเคราะห์ค่าดินรายแปลง โดยเปลี่ยนจากการใช้ปุ๋ยทุกสูตรมาเป็นเฉพาะสูตรตามผลการวิเคราะห์ค่าดินว่าดินขาดธาตุอาหารชนิดใดบ้าง
ทั้งนี้ในปี 2552 ส.ป.ก.ได้ขยายผลโครงการดังกล่าวไปสู่เกษตรกร ตามโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเกษตรกร โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 17 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก เชียงราย ร้อยเอ็ด สุรินทร์ อุบล ราชธานี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี ศรีสะเกษ ยโสธร ตาก เพชรบูรณ์ กระบี่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี โดยครอบคลุมพื้นที่ที่สามารถเป็นต้นแบบด้านเศรษฐกิจเพื่อการเกษตร ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และกุ้ง
หลังจากที่คัดเลือกโรงเรียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้มีการเชื่อมโยงให้ยุวเกษตรกรมีบทบาทใน 4 กิจกรรมหลักในการเป็นนักวิศวกรรมความรู้รุ่นเยาว์ นักข่าวรุ่นเยาว์ นักวิจัยรุ่นจิ๋ว นักสารสนเทศและเป็นผู้ให้บริการเชื่อมโยงฐานข้อมูลต่าง ๆ ในด้านการลดความสิ้นเปลืองในการใช้ปุ๋ยเคมี ความรู้ด้านการเกษตร ด้านกฎหมาย และกองทุนปฏิรูป ผ่านระบบเอสเอ็มเอส
นายอนันต์ กล่าวอีกว่า ประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับโดยตรงจากโครงการดังกล่าว คือฐานข้อมูลเรื่องของการใช้ปุ๋ยให้ตรงกับความต้องการของดินและพืช ความรู้เรื่องระบบการเตือนภัยจากศัตรูพืช การบริหารจัดการทันต่อเหตุการณ์ เพราะปัจจุบันเกษตรกรมีการพัฒนาการผลิตมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งการจัดการระบบดังกล่าวจะทำให้เกษตรกรสามารถตรวจสอบในเชิงปฏิบัติ ปริมาณ และคุณภาพเป็นไปได้อย่างทันท่วงที
เห็นได้ว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่เกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง โดยเฉพาะความรู้ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ที่สามารถแสวงหาได้โดยตรง ซึ่งจะทำให้เกษตรกร สามารถรับรู้เรื่องราว และการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที และคาดว่าในอนาคตเกษตรกรจะสามารถเพิ่มผลผลิตที่มีประสิทธิภาพตรงตามความต้องการของผู้บริโภคต่อไปในอนาคต
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=190968&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า