เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 52
การปลูกต้นไม้ในเขตร้อนอย่างเมืองไทยมักต้องพบกับปัญหาเรื่องศัตรูพืชค่อนข้างมากกว่าในเขตหนาว เพราะว่าศัตรูพืชต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหรือแมลง สามารถเติบโตได้ทั้งปี โดยไม่มีช่วงการพักตัว
ดังนั้น จึงมีการใช้สารเคมีในการผลิตค่อนข้างมาก ส่งให้กระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กระทั่งมีกระแสการผลิตพืชอินทรีย์ และการลดการใช้สารเคมีอย่างต่อเนื่องทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม หากจะให้มีการลดใช้สารเคมี ก็ต้องมีทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้ในการช่วยให้เกษตรกรผลิตพืชได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งหนึ่งในทางเลือกนั้นก็คือ การผลิตพืชในโรงเรือน
ปัญหาสำคัญคือโรงเรือนปลูกพืชมีต้นกำเนิดมาจากประเทศในเขตหนาว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันความหนาวเย็น แต่ว่าในเมืองไทยตรงกันข้าม เพราะว่าเมืองเราอากาศร้อน ดังนั้นเมื่อนำเอาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาใช้โดยตรง ปรากฏว่าก่อให้เกิดปัญหาความร้อนในโรงเรือน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการปลูกพืช สิ่งที่เราต้องทำคือ การพัฒนาโรงเรือนที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยขึ้นมาใช้ประโยชน์ให้ได้ แต่ว่าก่อนที่จะพัฒนาดังกล่าว ต้องมีการสำรวจก่อนว่าในเมืองไทยมีโรงเรือนอะไรอยู่บ้างแล้ว
ดังนั้นจึงมีโครงการวิจัยเรื่องหนึ่งคือการศึกษาสถานภาพและการใช้โรงเรือนสำหรับผลิตพืชสวนในสภาพควบคุมเพื่อการค้าในประเทศไทย โดยมี อ.ไกรเลิศ ทวีกุล จาก ม.ขอนแก่น เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งได้ไปศึกษารูปแบบและลักษณะของโรงเรือนที่มีใช้อยู่ในประเทศไทย รวมถึงโรงเรือนที่นำเข้ามา และโรงเรือนที่เกิดจากภูมิปัญญาของเราเอง เพื่อนำไปสู่การหาทางพัฒนาโรงเรือนของเราต่อไป ซึ่งงานนี้ไปสำรวจโรงเรือนในจังหวัดต่างๆ จำนวน 86 แห่ง จาก 13 จังหวัดทั้งทางภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยเน้นที่โรงเรือนปลูกผักและกล้วยไม้ เป็นหลัก
ภาพทั่วไปที่ได้คือว่า โรงเรือนส่วนใหญ่สร้างอย่างแข็งแรง ทั้งเสาและโครงมักจะเป็นปูนหรือเหล็ก แต่ก็มีบางส่วนเริ่มต้นจากไม้ไผ่ และหลังคาก็มีสองแบบคือพลาสติกใส สำหรับการปลูกผัก และหลังคาตาข่ายสำหรับการปลูกกล้วยไม้ ส่วนใหญ่เป็นโรงเรือนแบบเปิดโล่ง จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องความร้อนมากนัก แต่ว่าบางแห่งใช้น้ำพ่นเพื่อช่วยลดอุณหภูมิ และบางแห่งลงทุนสูงถึงขั้นใช้ระบบระเหยน้ำเพื่อลดอุณหภูมิ แบบเดียวกันกับโรงเรือนเลี้ยงไก่
ที่สำคัญคือถ้าเป็นการปลูกผักในโรงเรือน จะมีการใช้สารเคมีน้อยลง เทคโนโลยีโรงเรือนเหล่านี้แบ่งใหญ่ๆ ได้ 2 รูปแบบคือ แบบแรกนำเข้ามาทั้งหมดทั้งโรงเรือนและระบบควบคุม กับแบบที่สอง คือเทคโนโลยีที่พัฒนาเองภายในประเทศ ซึ่งก็ทำได้ดีระดับหนึ่ง แต่ก็ยังต้องการการวิจัยและพัฒนาอีกมากพอสมควร
ที่น่าห่วงก็คือตอนนี้ประเทศใกล้เคียงเราอย่างจีนและเวียดนาม มีการขยายตัวด้านการปลูกผักในโรงเรือนมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ใช้เทคโนโลยีจากเนเธอร์แลนด์และอิสราเอล หากไทยเราไม่พัฒนางานด้านโรงเรือนสำหรับการปลูกผักให้ดีขึ้น ก็คงยากที่จะไปแข่งขัน เพราะว่าหากต้นทุนการทำโรงเรือนสูง ย่อมส่งผลต่อการขยายพื้นที่การผลิตและมีผลกระทบต่อราคาผลิตผลอย่างแน่นอน
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.komchadluek.net/2009/02/16/x_agi_b001_337081.php?news_id=337081