กระทรวงเกษตรฯ เตรียมพร้อมรับภัยแล้ง
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 52
กระทรวงเกษตรฯ เตรียมพร้อมรับภัยแล้ง
จากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่า ในปีนี้ประเทศไทยอาจต้องประสบกับสถานการณ์ภัยแล้งยาว นานกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ มีการเตรียมพร้อมด้วยการวางมาตรการรับมือปัญหาภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นใน 4 จังหวัดที่น่าเป็นห่วง
สำหรับสถานการณ์ภัยแล้ง ที่อาจเกิดขึ้นว่าทางกระทรวงเกษตรฯ โดย นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.กระทรวงเกษตรฯ ให้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกรมชลประทาน สำนักฝนหลวงและ การบินเกษตร กรมปศุสัตว์ บูรณาการมาตรการต่าง ๆ รับมือกับภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้กรมชลประทาน ได้เร่งทำการสำรวจพื้นที่ที่คาดว่าจะประสบภัยแล้ง และพบว่าพื้นที่น่าเป็นห่วงมี 4 จังหวัด คือ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี แพร่ และอุตรดิตถ์
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในพื้นที่ 4 จังหวัดข้างต้น ได้ระดมเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือประชาชน คาดว่าทั้ง 4 จังหวัดจะมีปริมาณพืชผลทางการเกษตร ที่อาจจะได้รับความเสียหายประมาณ 58,000 ไร่ ครอบคลุมนาข้าวและพืชชนิดอื่น ซึ่งปัญหาดังกล่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้วางแผนในการที่จะรับมือไว้แล้ว โดยกรมชลประทานได้เตรียมพร้อมเรื่องเครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันทีหากมีความจำเป็น ขณะเดียวกันในส่วนของกรมปศุสัตว์ ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องอาหารสัตว์ นอกจากนั้น สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร มีการสำรวจพื้นที่ หากพบว่าพื้นที่ใดเหมาะสมในการบินขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง ก็สามารถดำเนินการได้ทันที เพื่อไม่ให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนมากเมื่อเกิดปัญหาภัยแล้ง
“ผมห่วงภัยแล้งโดยเฉพาะในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี อุตรดิตถ์ และแพร่ ซึ่ง 4 จังหวัดนี้ เท่าที่ประเมินคร่าว ๆ น่าจะมีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบกว่า 58,000 ไร่ แต่ตัวเลขนี้เป็นเพียงตัวเลขที่มีการสำรวจเบื้องต้น ซึ่งในขณะนี้ยังไม่เกิดภัยแล้งรุนแรง อย่างไรก็ดี จากการวางมาตรการในการรองรับปัญหาที่เกิดขึ้น ผมเชื่อว่าจะรับมือได้ ไม่น่ามีปัญหา เพราะตอนนี้ได้กำชับทุกหน่วยงานให้เตรียมพร้อมตลอดเวลา” นายธีระ กล่าว
ในส่วนปัญหาไฟป่า ที่อาจจะเกิดจากภาวะภัยแล้ง ทางกระทรวงเกษตรฯได้สั่งการให้สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งปฏิบัติการทำฝนหลวงเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่า ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการป้องกันปัญหาไฟป่า โดยขณะนี้ทางสำนักฝนหลวงฯ ได้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ จำนวน 8 ศูนย์ ซึ่งเชื่อว่า น่าจะสามารถรับมือกับภัยแล้งและไฟป่าที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
ในส่วนสำนักฝนหลวง ที่ถือเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหาภัยแล้งได้เตรียมพร้อมในการปฏิบัติการฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยล่าสุด มีการศึกษาวิจัยสูตรการทำฝนหลวงขึ้นมาใหม่ งานนี้ผู้ตรวจราชการที่ดูแลสำนักฝนหลวง นายไพโรจน์ ลิ้มจำรูญ บอกว่าสำนักฝนหลวงและกองบินเกษตรร่วมกับกองทัพอากาศได้ศึกษาวิจัยจนประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาสารฝนหลวงสูตรใหม่ที่พัฒนามาตั้งแต่ปี 2547 โดยคิดค้น พลุสารดูดความชื้นสูตรแคลเซียมคลอไรด์ ซึ่งจะปล่อยอนุภาคของสารที่เผาไหม้แล้วเข้าไปทำปฏิกิริยากับเมฆอุ่นจนทำให้เกิดฝน จากเดิมที่ต้องการใช้การโปรยสารเคมีจากเครื่องบินเท่านั้น
ซึ่งการใช้พลุดังกล่าวสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการโปรยสาร 30 เปอร์เซ็นต์และมีประสิทธิภาพทำให้ฝนตกได้ดีกว่า สามารถทดแทนการใช้สารเคมีสูตรเดิมได้ถึง 150 เท่า ช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้งเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศและลดปัญหาการเกิดภัยป่าได้ดี ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯเตรียมนำสูตรการทำฝนหลวงในรูปแบบดังกล่าวทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพิจารณาสูตร ดังกล่าวต่อไปก่อนนำไปใช้
ในภาวะโลกร้อนที่ทั่วโลกต่างวิตกถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมานั้น หากมีการวางมาตรการรับมือ รวมถึงเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาที่ดีและเป็นระบบด้วยข้อมูลด้านวิชาการและศักยภาพของทั้งภาครัฐ รวมถึงภาคประชาชน ก็ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าทุกคนจะร่วมกันพ้นผ่านวิกฤติภัยแล้งได้อย่างไม่ยากเย็น
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=191043&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า