สร้างชื่ออย่างต่อเนื่อง 'หอมมะลิสุรินทร์' อันดับหนึ่ง 'ข้าวไทย'
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 52
สร้างชื่ออย่างต่อเนื่อง 'หอมมะลิสุรินทร์' อันดับหนึ่ง 'ข้าวไทย'
"ทางโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ได้ลองนำข้าวหอมมะลิสุรินทร์ไปทำการทดสอบดูแล้วพบว่าเป็นข้าวที่มีคุณภาพที่สุด ทางโครงการจึงได้ทำการสั่งซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิสุรินทร์ จาก สกต.สุรินทร์ เพื่อไปทำการแปรรูปไว้ใช้ในโครงการส่วนพระองค์ และอีกส่วนจะนำไปจำหน่ายในโครงการส่วนพระองค์” กอบกุล กาญจนาลัย ผู้แทนโครงการโรงสีส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ระบุ
และเมื่อวันที่ 12 ก.พ.ที่ผ่านมา สกต.สุรินทร์ก็ได้ส่งมอบข้าวหอมมะลิสุรินทร์ให้ทางโรงสีส่วนพระองค์สวนจิตรลดาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังมีการน้อมเกล้าฯถวาย “ข้าวหอมมะลิอินทรีย์” จำนวน 10 ตันด้วย
นี่ถือเป็นอีกหนึ่งการการันตีคุณภาพข้าวหอมมะลิไทย
น่าจะมีส่วนเพิ่มพูนชื่อเสียงข้าวของไทยในระดับสากล
ทั้งนี้ สำหรับ “ข้าวหอมมะลิ” นั้น ถือเป็นพืชหลัก เป็นสินค้าส่งออกสร้างรายได้ของจังหวัดสุรินทร์ และอีกบางจังหวัดทางภาคอีสาน ซึ่งกับ จ.สุรินทร์ ถือว่าเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิมากที่สุดในประเทศ โดยข้าวหอมมะลิสุรินทร์ได้รับการยอมรับสูงในวงการค้าข้าวและผู้บริโภค ว่าเป็นข้าวที่มีคุณภาพ
ข้าวเปลือกเมล็ดเรียวยาว ได้ขนาดมาตรฐานข้าว และเมื่อสีเป็นข้าวสารแล้วก็จะได้เมล็ดข้าวที่เรียว ยาว ขาว ใส มีกลิ่นหอม เมื่อหุงเป็นข้าวสุกจะรสชาติดี มีความอ่อนนุ่ม นิ่มนวล
“หอม-ยาว-ขาว-นุ่ม” คือคุณลักษณะเด่นของข้าวหอมสุรินทร์
ด้วยความโดดเด่นทางด้านคุณภาพของข้าวหอมมะลิ จึงได้รับความไว้วางใจจากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ในการสั่งซื้อข้าวหอมมะลิ จำนวน 2,600 ตัน เพื่อนำไปแปรรูปจำหน่าย โดยเป็นการซื้อผ่านสำนักงานสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. สุรินทร์ หรือ สกต. สุรินทร์ ที่ก่อตั้งขึ้นจากการรวมตัวกันของเกษตรกร โดยทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้การสนับสนุน
เอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการ ธ.ก.ส. บอกว่า ทาง ธ.ก.ส. ได้ให้การสนับสนุนเกษตรกรลูกค้า ให้รวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาด (สกต.) ขึ้นมา ซึ่งการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ของเกษตรกรนั้นจะสามารถช่วยสร้างอำนาจการต่อรองในการขายสินค้าทางการเกษตรให้ได้ราคาดี
“สำหรับ สกต.สุรินทร์ สมาชิกเกษตรกรที่รวมตัวกันสามารถคงคุณภาพ และยังสร้างมาตรฐาน ยกระดับข้าวหอมมะลิสุรินทร์ จนได้รับการยอมรับจากส่วนราชการและวงการค้าข้าวเป็นอย่างดี ล่าสุดทางโรงสีข้าวส่วนพระองค์สวนจิตรลดาก็ได้ให้ความไว้วางใจ สั่งซื้อข้าวหอมมะลิจาก สกต.สุรินทร์ จำนวน 2,600 ตัน ในราคาตันละ 15,000 บาท เพื่อนำไปแปรรูปจำหน่าย”
รักษาการผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยังบอกอีกว่า ข้าวหอมมะลิสุรินทร์นั้น หลังจากสีออกมาแล้วจะได้คุณภาพดี คือหลังจากสีเป็นข้าวสารแล้ว ปริมาณข้าวเปลือกต่อ 100 กรัม ข้าวหอมมะลิสุรินทร์จะได้ข้าวเต็มเมล็ดอยู่ที่ 48 กรัม ซึ่งเมื่อเทียบกับข้าวที่อื่น ๆ เมื่อสีแล้วจะได้อยู่ที่ประมาณ 38 กรัม ข้าวหอมมะลิสุรินทร์จะให้ปริมาณเมล็ดข้าวที่สูงกว่า อีกทั้งยังมีคุณลักษณะที่ดี จึงเป็นที่ยอมรับของโรงสีข้าวส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
“ข้าวหอมมะลิสุรินทร์เคยถูกนำไปใช้ในการเลี้ยงอาหารประชาชน ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ด้วย และเพราะเป็นข้าวที่มีคุณภาพดี โรงสีส่วนพระองค์จึงสั่งไปแปรรูปใช้ในโครงการส่วนพระองค์” รักษาการผู้จัดการ ธ.ก.ส. ระบุ
ด้าน มลิวัลย์ เย็นเสมอ ผู้จัดการ สกต.สุรินทร์ เผยว่า สกต. สุรินทร์ มีจำนวนสมาชิก 120,000 คน โดยสมาชิกที่เป็นหุ้นส่วนจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้าสหกรณ์ 120 บาทต่อหุ้น และปัจจุบันทาง สกต.สุรินทร์มีทุนในการดำเนินการอยู่ที่ประมาณ 110 ล้านบาท โดยในปีการผลิต 2551/52 ทาง สกต.สุรินทร์สามารถรับซื้อ-รวบรวมผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิจากสมาชิกได้ประมาณ 26,000-30,000 ตัน
ข้าวเปลือกหอมมะลิดังกล่าวนี้จะนำไปจำหน่ายต่อให้กับโรงสี ทั้งในจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดอื่น ซึ่งข้าวเปลือกหอมมะลิส่วนหนึ่งจำนวน 2,400 ตัน ทาง สกต.สุรินทร์แปรรูปเป็นข้าวสารได้ราว 1,500 ตัน และนำไปจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า และเครือข่าย สกต.ทั่วประเทศ ซึ่งสร้างผลตอบแทนให้กับสมาชิกได้มากขึ้น
“และเพื่อยกระดับและการันตีคุณภาพข้าว ก็ได้ร่วมกับจังหวัดสุรินทร์ทำ โครงการข้าวอินทรีย์ ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทย (มกท.) ขึ้น โดยในปี 2551 เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและได้รับการรับรองมาตรฐาน มกท. มี 84 ราย พื้นที่ทำนา 357 ไร่ ผลผลิต 135 ตัน นอกจากนี้จังหวัดสุรินทร์ยังได้ตั้ง โรงเรียนชาวนาเกษตรอินทรีย์ และพยายามให้ทุกอำเภอมีโรงเรียนเกษตรอินทรีย์อย่างน้อย 1 แห่ง เพื่อให้เกษตรกรผลิตข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษ ต้นทุนต่ำ และจำหน่ายได้ในราคาสูงขึ้น” ผู้จัดการ สกต.สุรินทร์กล่าว
“ในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสิงคโปร์ ข้าวหอมมะลิจาก จ.สุรินทร์ ไม่เป็นสองรองใคร” เป็นอีกคำบอกเล่าของทาง ธ.ก.ส. ซึ่งล่าสุดจากการได้รับการยอมรับจากโรงสีส่วนพระองค์ ต่อจากนี้ไปข้าวหอมมะลิไทย โดยเฉพาะจาก จ.สุรินทร์ ก็น่าจะยิ่งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้นไปอีก
นี่ไม่เพียงเป็นความภาคภูมิใจของชาวนาสุรินทร์ แต่ยังเป็นความภูมิใจของคนไทยโดยรวมด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?ColumnId=69984&NewsType=2&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า