เทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพการขยายพันธุ์มะนาวเชิงการค้า (2)
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 52
เทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพการขยายพันธุ์มะนาวเชิงการค้า (2)
เมื่อวันพุธที่แล้ว ได้ข้อมูล
เทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพการขยายพันธุ์มะนาวเชิงการค้า มาจาก งานวันเกษตรแห่งชาติ โดยคณะผู้วิจัย : สามารถ เศรษฐวิทยา, กาญจน์ จันทร์ลอย, นางมณฑา วงศ์มณีโรจน์ และรวี เสรฐภักดี ศูนย์วิจัยและพัฒนาไม้ผลเขตร้อน สถาบันวิจัยและพัฒนากำแพงแสน ม.เกษตร ศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม ซึ่งยังไม่จบ ต่อไปนี้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมจากคราวที่แล้ว
สำหรับปัจจัยที่จะทำให้กิ่งตัดชำของมะนาวออกรากดี
สภาพภายในกิ่ง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือมีอยู่ในกิ่งตัดชำนั้นเอง ได้แก่สภาพดังต่อไปนี้
การเลือกกิ่ง ควรจะเลือกกิ่งที่มีลักษณะดังต่อไปนี้ 1. เลือกกิ่งที่มีอาหารมาก เพราะอาหารภายในกิ่งจำเป็นในการเกิดรากและการเจริญของกิ่งสำหรับการตัดชำกิ่งแก่ไม่มีใบ อาหารจะสะสมอยู่ภายในกิ่ง ซึ่งกิ่งที่แก่มาก (ไม่เกิน 1 ปี) อาหารยิ่งสะสมอยู่ภายในกิ่งมาก การเกิดรากและแตกยอดก็จะง่ายขึ้น
2. อายุของต้นพืชที่จะนำมาตัดชำควรเลือกกิ่งจากต้นที่มีอายุน้อย (นับจากเพาะเมล็ด) เพราะกิ่งจากต้นที่มีอายุน้อยจะออกรากได้ง่ายกว่ากิ่งที่นำมาจากต้นที่มีอายุมาก ๆ
3. เลือกชนิดของกิ่งให้เหมาะกับการเกิดราก โดยพิจารณาดังนี้ คือถ้าเป็นการตัดชำกิ่งแก่ ควรเลือกกิ่งข้างมากกว่ากิ่งกระโดง เพราะกิ่งข้างมีอาหารภายในกิ่งมากกว่ากิ่งกระโดง แต่ถ้าเป็นการตัดชำกิ่งอ่อนหรือกิ่งมีใบ การใช้กิ่งกระโดงจะออกรากง่ายกว่ากิ่งข้าง
4. การเลือกฤดูการตัดชำกิ่งให้เหมาะ คือ เป็นการตัดชำกิ่งแก่ที่ไม่มีใบ ควรจะตัดชำกิ่งในระยะที่กิ่งพักการเจริญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตาบนกิ่งเริ่มจะเจริญใหม่อีกครั้งหนึ่ง ส่วนการตัดชำกิ่งอ่อนนั้นอาจทำได้เมื่อกิ่งเจริญได้ระยะหนึ่งโดยกิ่งที่เจริญนั้นมีความแข็งพอสมควร และมีใบเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว สำหรับการตัดชำไม้ผลหรือไม้ประดับบางชนิดที่ออกรากค่อนข้างยากการใช้กิ่งที่แข็ง กลม และมีเส้นลายบนกิ่งเล็กน้อยจะออกรากได้ดีกว่าใช้กิ่งค่อนข้างอ่อน
5. การทำแผลโคนกิ่ง แผลโคนกิ่งจะช่วยให้กิ่งมีเนื้อที่ที่จะเกิดรากได้มากขึ้น นอกจากจะช่วยให้กิ่งเกิดจุดกำเนิดรากได้ง่ายแล้วยังช่วยให้กิ่งดูดน้ำและฮอร์โมนได้มากขึ้นอีกด้วย
6. การใช้ฮอร์โมนและสารบางอย่างช่วยการออกราก ฮอร์โมนช่วยให้กิ่งตัดชำออกรากดีขึ้น ช่วยให้เกิดรากมาก ออกรากไวและรากเจริญได้เร็ว สารฮอร์โมนสังเคราะห์ที่เป็นตัวสารเคมีที่ใช้ผสมอยู่ในชื่อฮอร์โมนการค้าต่าง ๆ มักจะมีสารฮอร์โมนอยู่ 2 ชนิด คือไอบีเอหรือชื่อเต็มคือ กรดอินโดลบิวไทริค (indolebutyric acid) และเอ็นเอเอ หรือชื่อเต็มคือกรดแนฟทาลีน อะซีติก (naphthaleneacetic acid) สารฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้เป็นสารที่เสื่อมช้าคือไม่สูญเสียง่าย แต่ในการใช้มีข้อที่ต้องคำนึงถึงก็คือ การใช้ฮอร์โมนกับพืชใด ควรจะรู้ความเข้มข้นที่แน่นอนและให้พอเหมาะกับพืช
การจัดสภาพแวดล้อมให้กับกิ่งตัดชำในระหว่างรอการออกราก1. การจัดความชื้นในอากาศรอบ ๆ กิ่งตัดชำความชื้นในอากาศเกี่ยวข้องกับการตัดชำ โดยที่กิ่งตัดชำเหล่านี้จำเป็นต้องรักษาใบไว้ปรุงอาหาร เพื่อช่วยการออกราก ฉะนั้นจึงต้องรักษาใบไว้ให้สดและติดอยู่กับกิ่งตลอดไป แต่การที่ใบจะสดอยู่ได้ก็จะต้องมีความชื้นในอากาศรอบ ๆ ใบสูงพอ น้ำจากใบจึงจะไม่คายออกมาและใบก็จะไม่เหี่ยว เราควรฉีดหรือพ่นละอองน้ำให้จับใบอยู่ตลอดเวลาหรือเป็นระยะ ซึ่งวิธีการหลังนี้อาจใช้คนช่วยฉีดพ่น หรือโดยการใช้เครื่องพ่นน้ำอัตโนมัติก็ได้
2. แสงสว่างกับการออกราก แสงสว่างมีความจำเป็นสำหรับการตัดชำกิ่งพืชที่ต้องมีใบติด เพราะแสงสว่างจำเป็นในการปรุงอาหาร รวมทั้งสร้างสารฮอร์โมนเพื่อช่วยการออกรากของกิ่งตัดชำ การให้กิ่งตัดชำได้รับแสงมากเท่าไร ก็จะช่วยให้การออกรากดีขึ้น
3. วัตถุที่ใช้ในการตัดชำการออกรากของกิ่งตัดชำ จะไม่เกี่ยวกับอาหารที่มีอยู่ในวัตถุปักชำนั้น แต่จะเกี่ยวข้องกับความชื้นและอากาศที่มีอยู่ในวัตถุปักชำนั้น โดยที่วัตถุปักชำแต่ละชนิดจะดูดความชื้นและมีอากาศผ่านเข้าออกได้ต่างกัน ซึ่งจะเป็นผลให้การออกรากแตกต่างกันไปด้วย วัตถุที่จะช่วยให้การออก รากเกิดได้ดี จะต้องดูดความชื้นได้มาก และมีอากาศผ่านได้สะดวก สำหรับวัตถุปักชำที่นิยมใช้กันทั่ว ๆ ไป ได้แก่ ทรายหยาบ ถ่านแกลบที่ล้างด่างหมดแล้ว หรือส่วนผสมของทรายหยาบกับถ่านแกลบอย่างละเท่ากัน
เป็นงานวิจัยที่ใกล้ชิดกับเกษตรกร ที่เมื่อได้รับคำแนะนำเหล่านี้แล้วสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง เป็นการถ่ายทอดความรู้จากนักวิชาการสู่เกษตรกร ก่อให้เกิดผลดีต่อคนในชุมชนที่ดำรงตนอยู่ได้ด้วยอาชีพทางการเกษตร.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=191161&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า