กรมชลฯยืนยันแล้งนี้ ประเทศไทยไม่ขาดแคลนน้ำ
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 52
กรมชลฯยืนยันแล้งนี้ ประเทศไทยไม่ขาดแคลนน้ำ
นายชลิต ดำรงศักดิ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทน อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั่วประเทศ (ณ 13 ก.พ. 52)ว่า มีปริมาตรน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งหมด 53,629 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 73 ของความจุเก็บกักทั้งหมด สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ทุกภาคมีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมสูงกว่าร้อยละ 70 ยกเว้นภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ต่ำกว่าร้อยละ 70 เพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ กรมชลประทาน ขอยืนยันว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ทั้งหมด มีเพียงพอสำหรับใช้ในฤดูแล้ง โดยไม่มีปัญหาการขาดแคลน
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งนั้น กรมชลประทาน ได้วางแผนการใช้น้ำทั้งประเทศเป็นจำนวนทั้งสิ้น 22,687 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันได้มีการระบายน้ำไปแล้วจำนวน 12,549 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 55 ของแผนการระบายทั้งหมด ทั้งนี้ เฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ได้มีการวางแผนการระบายน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 51/52 นี้ คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 9,550 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวมกัน จำนวน 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักฯ 550 ล้านลูกบาศก์เมตร และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาสนับสนุนอีก 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยได้เริ่มระบายน้ำตามแผนที่วางไว้ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 51 ไปจนถึง 31 เม.ย. 52 ปัจจุบันได้มีการระบายน้ำไปแล้วจำนวน 5,360 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 56 ของแผนการระบายน้ำที่วางไว้
ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 52 ในเขตชลประทานทั่วประเทศนั้น กรมชลประทานได้กำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งไว้รวมกันทั้งหมด 13.19 ล้านไร่ ล่าสุด มีการเพาะปลูกไปแล้ว 11.75 ล้านไร่ แยกเป็นพื้นที่เพาะปลูกนาปรัง 7.54 ล้านไร่ พื้นที่เพาะปลูกพืชไร่-พืชผัก 0.46 ล้านไร่ และอื่น ๆ อีกประมาณ 3.75 ล้านไร่ ทั้งนี้ เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไว้ทั้งสิ้น 7.07 ล้านไร่ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้ว 6.51 ล้านไร่ แยกเป็น พื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 5.45 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.07 ล้านไร่ และพืชอื่น ๆ 0.99 ล้านไร่
สำหรับการเตรียมความพร้อมและการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ประสบกับปัญหาภัยแล้งนั้น กรมชลประทาน ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำไว้จำนวนทั้งสิ้น 1,200 เครื่องทั่วประเทศ และได้ส่งเครื่องสูบน้ำเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ รวมทั้งการสนับสนุนเพื่อกิจกรรมด้านการเกษตรแล้วจำนวน 719 เครื่อง นอกจากนี้ยังมีรถยนต์บรรทุกน้ำที่เตรียมพร้อมไว้จำนวน 295 คัน ที่พร้อมจะออกปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ตลอดเวลา.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=191266&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า