พื้นที่แห้งแล้งดินไม่ดี สามารถปลูกถั่วฝักยาวได้
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 52
พื้นที่แห้งแล้งดินไม่ดี สามารถปลูกถั่วฝักยาวได้
มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่กำลังเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยการจ้างแรงงานในเมืองลดลง ถามเข้ามาว่าควรจะประกอบอาชีพอะไรดี มีที่ดินแต่ไม่แน่ใจในความเหมาะสมต่อการเพาะปลูก ในกรณีนี้ขอแนะนำว่าพืชที่ให้ผลเร็วและมีความเป็นไปได้ควรจะพิจารณาดำเนินการเป็นเบื้องต้นซึ่งมีหลายชนิดพืช หนึ่งในนั้นก็คือถั่วฝักยาว
ถั่วฝักยาวสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด แต่ลักษณะดินที่มีความเหมาะสมในการปลูก คือดินร่วนทราย หรือดินร่วนปนทราย และความเป็นกรดและด่างของดิน มีค่าระหว่าง 5.5-6 ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่มีระบบรากละเอียดอ่อน การเตรียมดินที่ดีจะช่วยให้การเจริญเติบโตสมบูรณ์และสม่ำเสมอ ขั้นตอนแรกให้ไถพรวนความลึกประมาณ 6-8 นิ้ว ตากดินทิ้งไว้ 5-7 วัน เพื่อทำลายไข่แมลง และศัตรูพืชบางชนิด เก็บเศษวัชพืชออกจากแปลงให้หมด จากนั้นจึงไถคราด ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้ว เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น การยกร่องสำหรับถั่วฝักยาวนั้น ปกติจะยกร่องกว้างประมาณ 1-1.2 เมตร โดยให้ความยาวเหมาะสมกับสภาพแปลง และเตรียมร่องระหว่างแปลงสำหรับเข้าไปปฏิบัติงาน กว้างประมาณ 0.5-0.8 เมตร ในสภาพพื้นที่ที่ไม่เคยมีการวิเคราะห์ ดินมาก่อน ควรเก็บตัวอย่างดินเพื่อนำไปวิเคราะห์เคมี เพื่อให้ทราบถึงความจำเป็นและได้ข้อมูลในการปรับปรุงบำรุงดินให้เหมาะสมต่อไป
ปกติในการปลูกถั่วฝักยาวในเนื้อที่ 1 ไร่ จะใช้เมล็ดพันธุ์ 3-4 กิโลกรัม นำเมล็ดพันธุ์ไปทดสอบความงอก คัดเมล็ดที่มีตำหนิออก และควรคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงเพื่อป้องกันแมลงเข้าทำลายด้วย ใช้จอบขุดหลุมให้ระยะระหว่างแถวห่างกัน 0.8 เมตร ระยะระหว่างหลุม 0.5 เมตร โดยให้หลุมลึกประมาณ 4-6 นิ้ว หยอดเมล็ดหลุมละ 4 เมล็ด แล้วกลบดินให้ลึกประมาณ 5 เซนติเมตร แล้วรดน้ำทันที สำหรับการให้น้ำระยะ 1-7 วัน ควรให้ทุกวัน ๆ ละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ให้พิจารณาสภาพภูมิอากาศ และสภาพดินด้วย หลังจากหยอดเมล็ดแล้วประมาณ 5-7 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก เมื่อมีใบจริงประมาณ 4 ใบ ให้ถอนแยกเหลือต้นแข็งแรงไว้ 2 ต้นต่อหลุม ขณะที่ถอนแยกให้พรวนดินและกำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้วัชพืชมาแย่งน้ำ และอาหารจากถั่วฝักยาว
ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรแฉะเกินไป ระยะเจริญเติบโตหลังจากถอนแยกแล้วควรให้น้ำทุก 3-5 วันต่อครั้ง ให้ตรวจสอบความชื้นในดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโต ระบบการให้น้ำอาจใช้วิธีการใส่น้ำเข้าตามร่อง หรืออาจจะใช้วิธีการตักรดโดยตรงขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำที่มี
ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่ต้องอาศัยค้างเพื่อเกาะพยุงลำต้นให้เจริญเติบโต ไม้ที่ใช้สำหรับทำไม้ค้างนั้นใช้ไม้ไผ่ หรือไม้อื่น ๆ ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ยาวประมาณ 2.5-3 เมตร หรืออาจจะสร้างโครงเสาแล้วใช้ลวดขึงด้านบน และใช้เชือกห้อยลงมายังลำต้นถั่วฝักยาวให้เลื้อยขึ้น ระยะเวลาการใส่ค้างถั่วฝักยาวนั้นจะเริ่มใส่หลังจากงอกแล้ว 15-20 วัน โดยจับต้นถั่วฝักยาวให้พันเลื้อยขึ้นค้างในลักษณะทวนเข็มนาฬิกา
ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่ต้องการธาตุฟอสฟอรัสสูงในการสร้างดอก ในทางวิชาการแนะนำให้ใช้ปุ๋ยอัตราส่วนของไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพ แทสเซียม คือ 1:1.5-2:1 ปุ๋ยสูตรดังกล่าวในบางพื้นที่อาจไม่มีจำหน่ายก็ใช้สูตรเสมอ 15-15-15 ซึ่งใช้ในสภาพดินที่เป็นดินเหนียว หรือสูตร 13-13-21 ในสภาพดินที่เป็นดินทราย หลังจากถั่วฝักยาวงอกแล้ว ต้องคอยดูแลวัชพืชในแปลงปลูก โดยทั่วไปแล้วจะกำจัดวัชพืช หลังจากเมล็ดงอกแล้วประมาณ 10-15 วัน หรือก่อนที่จะปักค้างหลังจากนั้น จึงคอยสังเกตจำนวนวัชพืชในแปลง หากพบวัชพืชควรกำจัด และเมื่อต้นถั่วเจริญเติบโตคลุมแปลงแล้ว จะทำให้การแข่งขันของวัชพืชลดลง ในการกำจัดวัชพืชในระยะที่ถั่วฝักยาวเริ่มออกดอกนั้น ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากการกำจัดวัชพืชอาจกระทบกระเทือนรากอันเป็นสาเหตุให้ดอกร่วงได้
หากอยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้ ๆ กับจังหวัดราชบุรีและสนใจจะปลูกพืชผักแบบนี้ก็เดินทางเข้าไปศึกษาถึงวิธีการปรับปรุงบำรุงดินและการปลูกพืชผักนานาชนิดได้ที่ โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดราชบุรี โครงการนี้มีการศึกษาทดลองวิธีการปรับปรุงดินเสื่อมโทรม ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มีแปลงสาธิตให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมปศุสัตว์ และกรมประมง รับผิดชอบในการดำเนินงาน
ต้องการข้อมูลหรือติดต่อเพื่อการเข้า เยี่ยมชมสามารถสอบถามโดยตรงได้ที่ ศูนย์ฯ โทรศัพท์ 0-3222-6744 โทรสาร 0-3222-6744.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=191373&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า