เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 52
มีคาดการณ์กันว่า ปีนี้อาจเจอปัญหาภัยแล้งยาวนานกว่าทุกปี ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเตรียมรับมือกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการเตรียมความพร้อมกันอย่างเต็มที่ในการสำรองน้ำเพื่อใช้ในพื้นที่ภาคเกษตรกรรม
จากข้อมูลศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทานได้รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั่วประเทศว่า ขณะนี้มีปริมาตรน้ำในอ่างรวมกันทั้งหมด 52,520 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 72 ของความจุเก็บกักทั้งหมด สำหรับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง กรมชลประทานได้วางแผนการใช้น้ำจากโครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศในช่วงฤดูแล้งปี 2551/2552 จำนวน 22,687 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่มีการนำน้ำไปใช้แล้วจำนวน 13,706 ล้านลูกบาศก์เมตร
ชลิต ดำรงศักดิ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผย "คม ชัด ลึก" ว่า ภาพรวมของน้ำทั่วประเทศขณะนี้ค่อนข้างโชคดี ที่เราได้กักเก็บน้ำค่อนข้างเยอะพอสมควร และใช้น้ำส่วนนั้นมาบริหารจัดการน้ำตรงนี้ได้ ส่วนหนึ่งแบ่งน้ำที่กักเก็บไว้เอามาใช้ในฤดูแล้ง โดยแบ่งไว้ 22 ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มช่วงปลูกพืชฤดูแล้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ซึ่งผ่านมา 4 เดือนกว่าแล้ว แต่ใช้น้ำไปประมาณ 15 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น
"เป้าหมายที่เราแบ่งน้ำไว้สำหรับพืชฤดูแล้ง 22 ล้านลูกบาศก์เมตร คือ ปลูกพืชประมาณ 13 ล้านไร่ ขณะนี้ที่ใช้น้ำไป 15 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้น แต่ปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้ว 18 ล้านไร่ ช่วงพืชฤดูแล้งจะเหลืออีกเพียง 2 เดือนกว่าเท่านั้นเอง พฤษภาคมนี้ฝนก็จะเริ่มมาแล้ว ฉะนั้นน้ำที่แบ่งไว้ก็ยังเหลือเยอะอีกพอสมควร"
ชลิตระบุอีกว่า ภาพรวมการปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทานไม่น่ามีปัญหาอะไร จะมีส่วนที่มีผลกระทบกับภัยแล้งบ้างก็คือส่วนที่อยู่นอกชลประทาน แต่ปัญหาภัยแล้งในปีนี้เท่าที่ตรวจสอบก็ไม่รุนแรงเท่าที่ควร ขณะเดียวกันเราก็ห่วง เนื่องจากปีสองปีที่ผ่านมาเจอภาวะโลกร้อนก็ต้องเฝ้าระวังกันต่อไป ส่วนในเขตชลประทานจะไม่กระทบภัยแล้ง นอกเขตชลประทานก็มีผลกระทบบ้างเล็กน้อย ในส่วนที่น้ำไปไม่ถึงในพื้นที่ปลูกพืชฤดูแล้งขณะนี้ก็เตรียมเครื่องสูบน้ำไว้ให้ 2,000 เครื่อง และได้กระจายไปสู่ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย ขณะนี้ใช้เครื่องสูบน้ำตามภูมิภาคต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำไปเรียบร้อยแล้ว
"แนวทางที่เราได้วางแผนที่จะช่วยเหลือราษฎรในช่วงปลูกพืชฤดูแล้ง ก็จะคล้ายๆ กับของเดิมที่เรากำหนดไว้ทุกๆ ปี จะต่างกันตรงที่น้ำที่เราเก็บไว้มีมากหรือมีน้อยเท่านั้นเอง สถานการณ์ทั่วไปเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ปีนี้ถือว่าดีกว่าเยอะ" รักษาการอธิบดีกรมชลประทานเผย
ในขณะที่ เฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) มองว่า การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการแหล่งน้ำในโครงการพระราชดำริต่างๆ มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำให้แก่เกษตรกรผู้ใช้น้ำ และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการน้ำ
"การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ในการช่วยให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี ในปัจจุบันพื้นที่การเพาะปลูกส่วนใหญ่ทุกภาคของประเทศเป็นพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอตามที่พืชต้องการ เป็นผลให้ผลผลิตที่ได้รับไม่ดีเท่าที่ควร"
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริส่วนใหญ่ มีวัตถุประสงค์ เพื่อการเกษตรเป็นสำคัญ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติโดยส่วนรวม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
"หนองตาจอน-ห้วยยัด"ตัวอย่างความสำเร็จ
ฝายทดน้ำบ้านหนองตาจอน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ราชบุรี เป็นโครงการเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำไว้สำหรับช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความแห้งแล้ง ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ไม่มีน้ำในการอุปโภค บริโภค และไม่สามารถทำการเพาะปลูกเพื่อทำการเกษตรหรือทำปศุสัตว์ได้เลย โดยมีลักษณะเป็นฝายทดน้ำ มีพื้นที่ส่งน้ำในช่วงฤดูฝน 300 ไร่ ฝายมีความสูงประมาณ 3 เมตร ยาวประมาณ 15 เมตร โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2550 หลังสมจิตต์ เอี่ยมทอง ราษฎรหมู่ 10 ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี มีหนังสือขอให้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในการก่อสร้างคลองส่งน้ำ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่บริเวณนั้น ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรมานานหลายปี จนในที่สุดกรมชลประทาน โดยการสนับสนุนงบประทานจากสำนักงาน กปร.ทำการก่อสร้างฝายทดน้ำในลำห้วยดังกล่าว พร้อมทำการขุดลอกเพื่อเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝน ให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อย่างเพียงพอต่อการทำเกษตรและใช้อุปโภค บริโภค
เช่นเดียวกับอ่างเก็บน้ำห้วยยัด ตั้งอยู่ที่บ้านผาลาด ต.แม่ลาว อ.เชียงคำ จ.พะเยา ที่มีปัญหาเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร ในช่วงฤดูแล้งน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรนอกฤดู แต่หลังจากบุญช่วย บัวเย็น ราษฎรใน ต.แม่ลาวมีหนังสือขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ ให้ทางราชการดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำที่ลำห้วยยัด เพื่อป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝนและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งและช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร ในที่สุดกรมชลประทานก็ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ดังกล่าวปัจจุบันอ่างเก็บน้ำแห่งนี้สามารถช่วยเหลือราษฎร เพื่อใช้อุปโภคบริโภคและใช้สอยอื่นๆ อีกกว่า 117 ครัวเรือน ประชากรกว่า 565 คน ที่สำคัญได้เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีเมื่อถึงช่วงหน้าฝน และเมื่อถึงหน้าแล้งก็ยังคงมีน้ำให้ได้ใช้อย่างต่อเนื่อง ยังผลให้ราษฎรสามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.komchadluek.net/2009/02/23/x_agi_b001_338537.php?news_id=338537