'ทองเหมาะ แจ่มแจ้ง' ปราชญ์แห่งเกษตรอินทรีย์ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดต้นทุนการผลิต
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 52
'ทองเหมาะ แจ่มแจ้ง' ปราชญ์แห่งเกษตรอินทรีย์ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดต้นทุนการผลิต
เป็นปราชญ์ชาวบ้านตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ จนได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติหลายรางวัลติดเต็มฝาบ้าน ล้วนการันตีถึงความวิริยอุตสาหะ ถือเป็นบุคคลตัวอย่างด้านการอนุรักษ์ และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างแท้จริง
นายทองเหมาะ แจ่มแจ้ง วัย 63 ปี ชาวบ้าน ต.วังหว้า อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี หรือที่ชาวบ้านแถวนั้นเรียกสั้น ๆ ว่า “ลุงทองเหมาะ” เล่าถึงประสบการณ์เมื่อครั้งก่อนที่จะมาเป็นปราชญ์ชาวบ้าน และเป็นเจ้าของศูนย์ปราชญ์ หรือสถาบันพัฒนาการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ที่ได้รับการยอมรับจากชาวบ้านใกล้เคียง และเป็นที่รู้จักของเกษตรกรส่วนใหญ่ทั่วประเทศในขณะนี้ว่า ก่อนที่จะพบทางสว่างนี้ เคยทำอาชีพมาหลายอย่าง ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นอาชีพทางการเกษตรแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอาชีพชาวไร่อ้อย ชาวไร่มันสำปะหลัง เลี้ยงปลา และชาวนา ว่ากันว่าทุกสิ่งที่สรรค์สร้างล้วนแต่เป็นเรื่องของเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกอย่างเดียวชนิดเดียวล้วน ๆ และส่วนใหญ่ก็ เน้นในเรื่องของการใช้สารเคมี ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช ที่คิดเพียงอย่างเดียวว่าจะช่วยเร่งให้มีผลผลิตเร็วและได้ผลดีคุ้มกับการลงทุน แต่แนวทางดังกล่าวเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อของพ่อค้าหัวใสเท่านั้น เพราะสิ่งที่ได้รับไม่คุ้มกับการลงทุน ลุงบอกว่า ยิ่งทำยิ่งจน เพราะคนที่เขากำหนดราคาทั้งปุ๋ยเคมี และสารเคมีต่าง ๆ โดยเฉพาะยาปราบศัตรูพืช คือ พ่อค้าไม่ใช่เกษตรกร และผลผลิตที่สามารถผลิตได้ เกษตรกรก็ยังไม่สามารถกำหนดราคาได้อีก
นอกจากนั้นยังมีเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่ลุงทองเหมาะเล่าให้ฟังว่า ขณะที่เขาพึ่งพาสารเคมีในการผลิตสินค้าเกษตร นอกจากเขาทำลายผืนดินที่เขาทำกินแล้ว เขายังทำลายตัวเองไปด้วย เพราะร่างกายที่เคยแข็งแรงดูอ่อนล้าลงอย่างเห็นได้ชัด สุขภาพที่เคยดีกลับไม่มีเรี่ยวแรง เหตุเพราะสารเคมีที่ใช้ทุกวันสะสมในร่างกายอย่างไม่รู้ตัว และเมื่อลุงเริ่มไม่ค่อยสบายจากปัญหาสุขภาพที่เกิดจากสารเคมีที่ใช้ตกค้างในร่างกาย จึงคิดทบทวนตัวเอง และเกิดความคิดขึ้นมาว่า หากต้องพึ่งพาสารเคมีในการผลิตสินค้าเกษตร ต้องลำบากเป็นแน่เพราะ ยิ่งทำยิ่งจน ต้นทุนสูง ไม่ใช่เฉพาะสินค้าเกษตรที่ผลิตออกมา แต่มันหมายถึงต้นทุนชีวิตของลุงด้วย จากนั้นจึงได้คิดที่จะไม่ใช้สารเคมี โดยได้ยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานแนวคิดด้านการเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง คุณลุงทองเหมาะจึงหันหลังให้กับสารเคมี หันมาทำนาข้าวอินทรีย์ ใช้จุลินทรีย์และสารชีวภาพทดแทน ขณะเดียวกันก็คิดค้นหาวิธีการทำนาให้ได้ผลผลิตมากขึ้น รวมทั้งพยายามที่จะคิดค้นดัดแปลงเครื่องจักร เครื่องมือการเกษตรให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ และในช่วง 1 ปีผ่านไป ก็เห็นว่าแนวทางที่ทำมาถูกทาง เพราะข้าวที่ปลูกได้ผลดีกว่าที่คาดไว้ ขณะเดียวกันสุขภาพที่เคยมีปัญหาก็กลับมาแข็งแรงดังเดิม
“ตอนนี้เตะปี๊บดังไกล 3 บ้าน” ลุงทองเหมาะพูดไปยิ้มไป พร้อมกลับเล่าว่า เมื่อชาวบ้านละแวกนั้นเห็นก็เข้ามาถามว่าทำอย่างไร ลุงได้แนะนำให้เขารู้ และเขาก็นำไปปฏิบัติ จากนั้นได้มีการเล่าต่อ ๆกัน จึงมีคนเข้ามาขอเรียนรู้มากขึ้น และได้แนะนำไปตามมีตามเกิด จนตอนนี้มีคนมาขอเรียนรู้งานมากกว่าวันละ 100 ถึง 200 คน บางคนก็มาเอง บางคนหน่วยงานราชการพามา โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงที่คนตกงานมาจากภาคอุตสาหกรรม ก็มามากขึ้น บางวันก็มากจนรับไม่ไหว แต่ไม่เป็นไร เพราะเขาเต็มใจมาเรียนรู้
ทางรอดของเกษตรกรคือเราต้องทำอย่างไรให้ต้นทุนเราน้อยที่สุด โดยเราต้องไม่ใช้สารเคมีและต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ก่อน เมื่อเราลดต้นทุนของเราได้ ถึงแม้ราคาสินค้ามันจะถูกเราก็ขายได้ อยู่ได้ แต่หากราคามันสูงเราก็ได้เงินมากขึ้น อย่าไปคิดมาก เพราะเราไม่ใช่ผู้กำหนดราคา เมื่อเรากำหนดราคาไม่ได้ เราต้องลดต้นทุน ให้เราอยู่ได้ เศรษฐกิจพอเพียงคือสิ่งที่ผมยึดถือและปฏิบัติมาตลอด ทำทุกอย่างที่ลดต้นทุน
นั่นคือแนวคิดของลุงทองเหมาะ แจ่มแจ้ง ชาวนาจากเมืองสุพรรณบุรี.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=191572&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า