เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 52
มะม่วงเป็นพืชที่เมืองไทยปลูกกันมากแทบจะทุกบ้านเรือน และมีพื้นที่ปลูกขยายตัวค่อนข้างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ว่าเราส่งออกมะม่วงเพียงร้อยละ 1.7 เท่านั้น ส่วนที่เหลือเกินกว่าร้อยละ 98
ใช้ในการบริโภคภายในประเทศ แต่เคยมีใครสังเกตหรือไม่ว่า ยังไม่เคยมีปัญหาเรื่องราคาตกเหมือนพืชอื่นๆ จนถึงขั้นต้องเดินขบวนหรือเทผลผลิตทิ้งจนให้เป็นข่าวใหญ่โต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปลูกมะม่วงแล้วร่ำรวยกันทุกคนจนไม่เดือดร้อนเรื่องราคา เพียงแต่ว่าปัญหาเรื่องราคาของมะม่วงไม่หนักหนาเหมือนพืชอื่น
หากวิเคราะห์ดูเหตุผลของเรื่องนี้ก็อาจบอกได้ว่ามีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสมดุลระหว่างปริมาณผลผลิตที่ได้ในแต่ละปี และปริมาณความต้องการการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับเทคโนโลยีในการควบคุมการออกดอกที่ได้รับการพัฒนามาจนถึงขั้นที่สามารถกระจายผลผลิตได้ทั้งปี ทำให้ปัญหาเรื่องมะม่วงล้นตลาดไม่ค่อยเกิดขึ้น และที่สำคัญคือ คนไทยก็ยังกินมะม่วงกันเป็นผลไม้หลักอย่างหนึ่งที่คุ้นเคยกันมาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่ว่าการที่เราส่งออกมะม่วงไปขายต่างประเทศเพียง 1.7% นั้น เป็นเรื่องที่น่าคิดว่ายังมีช่องทางอีกมหาศาลในการเพิ่มรายได้เข้าประเทศ และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูก โดยการผลักดันให้มีการส่งออกได้มากขึ้น เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรเท่านั้นเอง
การผลักดันการส่งออกมะม่วงให้มากขึ้นนั้นคงต้องวิเคราะห์และหาทางแก้ปัญหาที่มีอยู่ก่อน สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นปัญหาอยู่และเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้การส่งออกไม่มากเท่าที่ควร นั่นคือเรื่องของความสามารถของผู้ผลิตหรือเกษตรกรผู้ปลูกที่เป็นเกษตรกรรายย่อย ที่ต่างคนต่างทำโดยไม่สามารถรวมกลุ่มกันได้ จึงทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่เข้ามาตรฐานที่กำหนดไว้ ผลก็คือส่งออกไม่ได้ จึงทำได้อย่างมากคือการขายในประเทศซึ่งได้ราคาต่ำกว่า หรือหนักไปกว่านั้นคือส่งเข้าโรงงานแปรรูปในราคาที่ต่ำมาก
แนวคิดหนึ่งที่เชื่อว่าน่าจะช่วยในการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงได้ คือแนวคิดเรื่องของการพัฒนากลุ่มยุทธศาสตร์ หรือที่เรียกว่า คลัสเตอร์ วิธีนี้เป็นการผนึกกำลังให้เกิดความร่วมมืออย่างเข้มแข็งในการพัฒนาด้านต่างๆ และเคยใช้ได้ผลในหลายกรณี แต่ว่าสำหรับมะม่วงของเมืองไทยยังไม่เคยมีใครนำวิธีนี้มาใช้ ดังนั้นนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมี รศ. ดร.ธวัชชัย รัตน์ชเลศ เป็นหัวหน้าโครงการ จึงลองทำวิจัยเรื่อง การใช้แนวทางกลุ่มยุทธศาสตร์เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถของเกษตรกรผู้ผลิตมะม่วงส่งออก โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ และกลุ่มผู้ปลูกมะม่วงที่เนินมะปราง จ.พิษณุโลก หากทำได้ผลก็น่าจะมีการขยายผลไปยังแหล่งอื่นๆ รวมทั้งพืชอื่นๆ ที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ด้วย
วิธีการทำงานของโครงการก็เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจในแนวคิดเรื่องการรวมกลุ่มดังกล่าวเป็นสำคัญ โดยใช้กระบวนการที่ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดและลงมือทำอย่างแท้จริง ตอนนี้โครงการได้เริ่มมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้เสร็จสิ้น จึงยังไม่มีข้อสรุปตอนนี้ว่าวิธีการดังกล่าวจะใช้ได้ผลหรือไม่ในกรณีของมะม่วง ก็คงต้องรอดูกันต่อไป
แต่อย่างน้อยที่สุด ข้อมูลที่ได้ตอนนี้ก็คือ เห็นสภาพปัญหาที่รอการแก้ไข ซึ่งออกมาจากตัวเกษตรกรผู้ปลูกเอง ดังนั้นการแก้ไขก็น่าจะทำได้ตรงเป้ามากกว่า เรื่องนี้คงต้องอาศัยนักวิชาการเข้าไปช่วยครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.komchadluek.net/2009/02/23/x_agi_b001_338535.php?news_id=338535