เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 52
ปัญหา “น้ำนม” ปนเปื้อนมีเข้ามาสะกิดอารมณ์ “ดื่ม” ของ เด็กให้ต้องหยุดชะงักอยู่เป็นระลอก ไม่ว่าจะเรื่องโครงการอาหารเสริม (นม) เด็กที่เกิดขึ้น ซึ่งกำลังเป็นปัญหาให้ภาครัฐแก้ไขในขณะนี้ กับที่เป็นข่าวครึกโครมจนสร้างความหวาดวิตกสุดๆ ก็คือการล้มป่วยของเด็กทารกกว่าครึ่งแสนในสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่หลังจากการตรวจหาสาเหตุแล้วพบว่าเพราะดื่มนมปนเปื้อนสาร “เมลามีน” เข้าไป
สำหรับ เมลามีน มีลักษณะเป็นผงสีขาว คล้ายนมผงจนแยกไม่ออก เมื่อนำไปละลายน้ำ หรือผสมในนมทำให้ตรวจพบปริมาณไนโตรเจนสูง ซึ่งการวัดว่าน้ำนมนั้นมีโปรตีนสูงหรือไม่ จะดูจากค่า “ไนโตรเจน” ดังนั้นการผสมสารดังกล่าวลงไป ก็เพื่อ “หลอก” ให้ เข้าใจว่าน้ำนม “ลอต” นั้นๆ มีโปรตีนสูง
แล้วสารชนิดนี้ยังถูกนำไป ใช้ผสมเพื่อผลิตเม็ดพลาสติก พบในยาฆ่าแมลง หากถูกความร้อนอาจมีสารฟอร์มัลดิไฮด์แพร่กระจายเป็นอันตรายต่อร่างกาย หรือถ้ารับประทานเข้าไปสะสมเป็นจำนวนมากจะ ส่งผลให้ท่อปัสสาวะล้มเหลว ทำลายระบบสืบพันธุ์ เกิดอาการเป็น นิ่ว ไตวายเสียชีวิตในที่สุด
มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำโดยรศ.ดร.เยาวมาลย์ ค้าเจริญ และ รศ. ดร.สาโรช ค้าเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ จึงได้ คิดค้นสร้างชุดตรวจสอบ “Test Kit” การปลอมปนเมลามีนและอนุพันธุ์เอมีน (ยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์) ในอาหารคนและสัตว์ขึ้นมา
รศ.ดร.เยาวมาลย์ บอกว่า สำหรับชุดตรวจสอบดังกล่าวมีวิธีการใช้ที่ง่าย สามารถทำ ได้เอง โดยแบ่งเป็น 4 ชนิดด้วยกัน คือ Test Kit ชุด A B D ใช้ตรวจสอบหาอนุพันธ์ของเมลามีน ส่วน ชุด C หาการปลอมปนของเมลามีน โดยตรง ในชุดนี้ประกอบด้วย standard Melamine ซึ่งจะเป็นสี “แดงเชอรี่” สำหรับเปรียบเทียบสีของสารละลายที่มีการปลอมปน น้ำกลั่น เพื่อเจือจางเปรียบเทียบสี และ Solution Melamine เป็นตัวตรวจตัวอย่างที่นำมาทดสอบว่ามีเมลามีนหรือไม่
ซึ่ง การทดสอบนี้ เป็นเพียงระดับเบื้องต้น ผลที่ได้สามารถบอกได้ว่ามีเมลามีน ปลอมปนอยู่หรือเปล่าแต่ไม่ สามารถบอกถึงปริมาณ ซึ่งหากต้องการทราบว่ามีมากน้อยแค่ไหนต้องนำไปตรวจสอบในระดับหนึ่ง
โดยขั้นตอนกรรมวิธี เริ่มจากนำผลิตภัณฑ์ที่สงสัย มาละลายในน้ำกลั่นอัตรา ส่วน 1 กรัม/น้ำ 10 มล. เขย่าให้เข้ากันดูดเอาเฉพาะสารละลาย หยอดลงในภาชนะที่เตรียมไว้ จากนั้นหยด Solution Melamine ตามลงไปนำมาเปรียบเทียบกับสีของ standard Melamine หากพบว่าเป็นสีแดงเชอรี่ แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีการปลอมปน อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ จากผลสำเร็จในการนำชุดทดสอบมาใช้ ให้ผลออกมาค่อนข้างแน่นอน และเพื่อให้มีความชัดเจนจึงนำไปให้ โรงงานอาหารสัตว์ 65 แห่ง อาหารคน 5 บริษัท ร่วมทดสอบการทำ QC (Quality control) และ QA (Quality assurance) หลายแห่งต่างให้ ความสนใจเพราะ ผลที่ได้ใช้เวลาตรวจสอบไม่ นาน อีกทั้งยังมีราคาค่อนข้างถูก
นอกจากนี้ชุด Test Kit C ยังสามารถใช้เป็น screening test ผลิตภัณฑ์ จากนม น้ำปลา ซีอิ๊ว เครื่องปรุงรสต่างๆ รวมถึง น้ำดื่ม ที่ผ่านขบวนการกรองโดยใช้ผงเรซิ่น (resin) ได้เป็นอย่างดี
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-4336-2006, 08-1872-5956 ในวันและเวลาราชการ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=124742