ขยายฐานการผลิตสินค้าพืช 'จีเอพี' สู่เวทีการค้าโลก
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 52
ขยายฐานการผลิตสินค้าพืช 'จีเอพี' สู่เวทีการค้าโลก
"โครงการความปลอดภัยทางด้านอาหาร” ที่กระทรวงเกษตรฯดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ทั้งสินค้าพืช ปศุสัตว์และสินค้าประมงให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีศักยภาพเหนือคู่แข่งอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีน และเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ปี 2552 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มีแผนเร่งสานต่อ “โครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐาน” เพื่อตอกย้ำให้ผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศเกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าเกษตรไทยมากยิ่งขึ้น
นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและได้มาตรฐาน ว่า เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรไทยในเวทีการค้าโลก ปีนี้กรมส่งเสริมการเกษตรจะเร่งพัฒนาเกษตรกรให้ผลิตสินค้าพืชตามระบบการจัดการคุณภาพ และได้รับการรับรองมาตรฐานแหล่งผลิตตามหลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (จีเอพี-GAP) พร้อมส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเกษตรตามระบบเกษตรอินทรีย์ ป้อนตลาดด้วย โดยมีเกษตรกรเป้าหมายรวมกว่า 310,940 รายทั่วประเทศ
เบื้องต้นกรมฯ ได้มีแผนสร้างนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรระดับอำเภอ (เกษตรตำบล) จำนวน 5,344 ราย ให้เป็นเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาเกษตรกร พร้อมจัดฝึกอบรมเพิ่มประสิทธิภาพผู้ช่วยที่ปรึกษาเกษตรกร (อาสาสมัครเกษตรจีเอพี) 15,547 ราย ให้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และคอยแนะนำด้านการจัดการคุณภาพจีเอพีพืช รวมถึงการตรวจประเมินแปลงเบื้องต้น ทั้งยังจะคัดเลือกวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มการผลิตที่มีการบริหารจัดการอย่างเข้มแข็ง จำนวน 9 กลุ่ม มาเป็นกลุ่มนำร่องและศึกษารูปแบบการรับรองมาตรฐานจีเอพีแบบกลุ่ม ควบคู่กันไป ขณะเดียวกันกรมฯ จะร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรและกรมการข้าว เร่งผลักดันให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐานจีเอพี พืช/ข้าว เป้าหมายกว่า 86,400 ราย และมีการเตรียมพร้อมเกษตรกรเข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐาน จีเอพี ปี 2553 จำนวน 223,600 รายด้วย
นอกจากนั้น กรมฯ ยังมีแผนส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่การรับรองมาตรฐานเกษตร อินทรีย์เชิงพาณิชย์สู่สากล ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติฉบับที่ 1 (ปี 2551- 2554) โดยขณะนี้ได้เตรียมแผนคัดเลือกเกษตรกรผู้ผลิตข้าวและหน่อไม้ฝรั่งที่มีความพร้อมในพื้นที่ 12 จังหวัด จัดตั้งเป็นกลุ่มผู้ผลิตพืชอินทรีย์ จำนวน 22 กลุ่ม แยกเป็น ข้าวอินทรีย์ 20 กลุ่ม สมาชิก 400 ราย อยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ มหาสารคาม ยโสธร เชียงราย พะเยา อุบลราชธานี อุทัยธานี และอำนาจเจริญ รวมพื้นที่ปลูก 2,000 ไร่ หน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ 2 กลุ่ม สมาชิก 40 ราย ในจังหวัดสระแก้วและกาญจนบุรี รวมพื้นที่ 80 ไร่ ทั้งยังเร่งถ่ายทอดองค์ความรู้ตามระบบโรงเรียนเกษตรกร และส่งเสริมการจัดทำแปลงเรียนรู้กลุ่มละ 1 แปลง ตลอดจนศึกษาสถานการณ์การผลิตและการตลาดเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาการผลิตสินค้าอินทรีย์ให้ตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรยังกล่าวอีกว่า กรมฯ ได้เตรียมพัฒนา การผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์ผึ้ง ให้ปลอดภัยและได้มาตรฐาน โดยมอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (ผึ้ง) เร่งฝึกอบรมและผลักดันให้ผู้เลี้ยงผึ้ง จำนวน 500 ราย เข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์มผึ้ง พร้อมจัดตั้งจุดสาธิตเรียนรู้การผลิตสินค้าแมลงเศรษฐกิจ (ผึ้ง) 10 จุด เน้นพัฒนาขบวนการลี้ยงและผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย และให้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตด้วย
อีกทั้งยังมุ่งส่งเสริมการนำร่องเตรียมความพร้อมเกษตรกร เข้าสู่ระบบการตรวจรับรองมาตรฐานจีเอพี และลดต้นทุนการผลิต โดยตั้งเป้าที่จะสร้างเกษตรกรต้นแบบลดต้นทุนการผลิตข้าวจำนวน 180 ราย พร้อมจัดทำแปลงเรียนรู้ลดต้นทุนการผลิตข้าวโดยการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน 180 แปลง เนื้อที่ 360 ไร่ ที่สามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกรได้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถขยายผลการลดต้นทุนไปสู่เกษตรกรได้เพิ่มอีกกว่า 1,800 ราย โดยลดต้นทุนการผลิตได้อย่างน้อยไร่ละ 510 บาท/ฤดูกาลผลิต
นอกจากเกษตรกรจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและได้มาตรฐานตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศแล้ว ยังช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรไทยในเวทีการค้าโลก อันจะนำไปสู่การนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มสูงขึ้น หากผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานจีเอพี มีการจัดการคุณภาพอย่างต่อเนื่อง อนาคตเชื่อว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้ ขณะที่การใช้ปุ๋ยเคมีก็ลดลงด้วย และทำให้เกิดความยั่งยืนในระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=191658&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า