เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 52
จากปัญหาเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคในพืชและทำให้เกษตรกรต้องหันไปซื้อสารเคมีหรือยาปราบศัตรูพืชมาใช้ในการทำลายเชื้อราดังกล่าว ส่งผลให้ต้นทุนของเกษตรกรสูงขึ้น
ทั้งสารเคมียังมีสารตกค้างทำลายสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่เกษตรกรรม ด้วยเหตุนี้ทำให้นักวิจัยมีแนวความคิดที่จะหาสารชีวภาพ ซึ่งสามารถออกฤทธิ์ไม่ให้เชื้อราอันก่อให้เกิดโรคพืชเจริญเติบโตได้และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาใช้ทดแทนกัน
ด้วยเหตุนี้ทำให้ผศ.ประสาทโพธิ์นิ่มแดง อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะ ได้ทำการวิจัย จนในที่สุดได้ค้นพบจุลินทรีย์จากขยะ ซึ่งมีศักยภาพในยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราในโรคพืช โดยมีชื่อว่า บาซิลลัส ซับไทลิส (Bacillus Subtilis)
ผศ.ประสาทเผยว่าบาซิลลัส ซับไทลิส เป็นเชื้อจุลินทรีย์ตัวแรกที่ค้นพบจากขยะ โดยมีมากในขยะอินทรีย์สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราฟูซาเรียม ออกซิสโพรัม (Fusarium oxysporum) ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคต้นเหี่ยวในมะเขือเทศโดยกระบวนการทดลองในการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ได้นำขยะมาคัดเลือกเพื่อแยกเศษพลาสติกออก เอาเฉพาะขยะสีเขียว โดยนำตัวอย่างขยะมาประมาณ 10 กรัมทำการแขวนลอยในสารละลายบัฟเฟอร์ปริมาตร 90 มิลลิลิตรเขย่าให้เข้ากัน และนำมาทำการเพิ่มจำนวนในอาหารเลี้ยงเชื้อ
จากนั้นนำเชื้อไปทาบนผิวหน้าอาหารเลี้ยงเชื้อชนิดแข็งด้วยแท่งแก้วงอเพื่อให้ได้กลุ่มของเชื้อแบคทีเรีย และนำไปทดสอบการยับยั้งการเจริญของเชื้อรา โดยเฉพาะเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคต้นเหี่ยวในมะเขือเทศ ที่มีชื่อว่า ฟูซาเรียม ออกซิสโพรัม ที่มักระบาดในต้นมะเขือเทศที่ปลูกใหม่ ผลการทดลองในระดับห้องปฏิบัติการได้ผลประมาณ 80% ในการป้องกันโรคต้นเหี่ยวในมะเขือเทศ
นักวิจัยคนเดิมระบุอีกว่าภายหลังศึกษาเพิ่มเติม พบจุลินทรีย์อีกหนึ่งชนิดที่มีประสิทธิภาพมากกว่าและต้นทุนในการเลี้ยงเชื้อถูกกว่าบาซิลลัส ซับไทลิส โดยสามารถออกฤทธิ์ในการยับยั้งไม่ให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดีกว่า รวมทั้งป้องกันการเกิดโรคในพืชได้มากกว่าเดิม ทั้งนี้ นอกจากยับยั้งการเจริญเติบโตเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคเหี่ยวในมะเขือเทศได้แล้ว ยังสามารถยับยั้งเชื้อรา Collectoticum ที่ก่อให้เกิดโรคกุ้งแห้งในพริกได้100% อีกด้วยโดยโรคกุ้งแห้งในพริกนี้จะส่งผลให้พริกเหี่ยวงอเหมือนตัวกุ้ง สีดำ ต้องเด็ดทิ้งไม่สามารถนำออกขายได้
สำหรับจุลินทรีย์ตัวใหม่ที่ค้นพบนั้นจากการศึกษาในห้องปฏิบัติการคาดว่าน่าจะเป็นแอคติโนมัยเซส (Actinomyces) ซึ่งจะได้ทำการศึกษาในห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันชนิดของจุลินทรีย์ที่ค้นพบต่อไป พร้อมทั้งนำไปขยายผลการทดลองในแปลงทดสอบด้วย จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ จุลินทรีย์ตัวใหม่นี้ใช้น้ำแป้งข้าวเจ้าและแป้งมันสำปะหลังเป็นอาหารเลี้ยงเชื้อ ดังนั้น น้ำทิ้งจากโรงงงานผลิตเส้นขนมจีน หรือน้ำทิ้งจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง ก็สามารถนำมาเป็นอาหารเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ตัวนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการใช้ประโยชน์จากของเสียได้อีกทางหนึ่ง ผศ.ประสาทกล่าว
สำหรับการพัฒนางานวิจัยในขั้นต่อไปนักวิจัยจะผลิตสารสกัดจากเชื้อจุลินทรีย์ที่คัดแยกจากขยะหรือของเสีย ในรูปแบบผงแห้งและชนิดน้ำ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้โดยสะดวก ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรประหยัดต้นทุนลงได้ เกษตรกรรายใดสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร.0-4336-2006
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.komchadluek.net/2009/02/24/x_agi_b001_338739.php?news_id=338739