จัดงาน 'ศิลปาชีพเพื่อเกษตรไทย' รองรับแรงงานคืนถิ่นสู่ภาคเกษตร
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 52
จัดงาน 'ศิลปาชีพเพื่อเกษตรไทย' รองรับแรงงานคืนถิ่นสู่ภาคเกษตร
จากสภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งวิกฤตินี้ทำให้แรงงานไทยที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมและบริการต้องตกงานไม่น้อยกว่า 1.5-1.6 ล้านราย แรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่จะหันกลับคืนถิ่นฐานบ้านเกิดซึ่งมีรากเหง้าเป็นเกษตรกร จึงเป็นโอกาสของภาคเกษตรไทยที่จะได้แสดงศักยภาพในการรองรับแรงงานคืนถิ่นให้กลับมามีอาชีพและสร้างรายได้ที่มั่นคงต่อไปในอนาคต
และเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับแรงงานคืนถิ่น รวมทั้งเยาวชน และเกษตรกรที่มีเวลาว่างหลังฤดูเก็บเกี่ยว ทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้เตรียมจัดงาน “ศิลปาชีพเพื่อเกษตรไทย” ขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 มีนาคม 2552 ณ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาของภาคเกษตรหลัก ๆ มีอยู่ 3 ด้าน คือ เกษตรกรไม่มีที่ดินทำกินประมาณ 1.2-1.3 ล้านคน ปัญหาผู้จบการศึกษาด้านเกษตรไม่หันมาทำอาชีพเกษตร เพราะไม่มั่นใจเรื่องทักษะและไม่มีที่ดินทำกิน ทำให้แรงงานในภาคเกษตรเป็นเกษตรกรที่มีอายุมากขึ้น และปัญหาแรงงานคืนถิ่นที่จะเข้าสู่ภาคเกษตรมีเพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการที่ดินทำกินไม่น้อยกว่า 15 ล้านไร่ ซึ่งเรื่องการจัดสรรที่ดินทำกินนั้น ส.ป.ก.กำลังเร่งดำเนินการ โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการจัดสรรที่ดินแล้ว 30 ล้านไร่ ให้เกษตรกร 1.8 ล้านครอบครัวได้ใช้ประโยชน์
ปัญหาอีกอย่างคือ บางพื้นที่ทรัพยากรน้ำไม่เพียงพอที่จะให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี จึงมีเวลาว่างหลังฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้เกิดแรงงานอพยพเข้าเมืองเพื่อหารายได้เสริม และละทิ้งภาคเกษตรไปในที่สุด ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการคือ การสร้างอาชีพเสริมนอกฤดูกาลเพาะปลูกให้กับแรงงานภาคเกษตร ซึ่งแนวทาง
เลือกอาชีพอย่างหนึ่ง คือ ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ ที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ก่อตั้งขึ้นมาในเขตปฏิรูปที่ดินที่พระราชทาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เพื่อเป็นแหล่งฝึกอาชีพศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านให้กับลูกหลานของเกษตรกร ซึ่งมีอยู่ 30 กว่าแผนกให้เลือก เช่น แผนกช่างเครื่องเรือนไม้ ช่างปั้น ช่างทอผ้าไหม ช่างเป่าแก้ว เป็นต้น ดังนั้น ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯจึงมีความพร้อมและเหมาะสมที่สุดที่จะนำมาเป็นตัวช่วยในการฝึกอาชีพเสริมให้กับเกษตรกรผู้สนใจ ตลอดจนรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างในขณะนี้
ส.ป.ก. น้อมเกล้าฯรับสนองพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อเผยแพร่ศิลปาชีพให้เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป ภายในงานศิลปาชีพเพื่อเกษตรไทยที่จะจัดขึ้นนี้ นอกจากจะเป็นการชักชวนให้เกษตรกรและผู้สนใจได้มีโอกาสเรียนรู้สร้างอาชีพที่มีภายในศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ กว่า 30 สาขาแล้ว ส.ป.ก.ยังคัดเลือกผลงานจากศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ที่มีอยู่เกือบ 4,000 ศูนย์ วิสาห กิจชุมชน 7,000 แห่ง และอาสาสมัคร ส.ป.ก. รวมทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จากเขตปฏิรูปที่ดิน 69 จังหวัดทั่วประเทศที่ประสบความสำเร็จมาจัดแสดงอีก 340 ฐานความรู้ด้าน เกษตร เรียกว่ามีอาชีพให้ศึกษาเรียนรู้อย่างครอบคลุมทุกสาขา จึงเชื่อมั่นว่าผู้ที่เข้ามาร่วมงานในครั้งนี้จะได้รับประโยชน์คุ้มค่าอย่างแน่นอน
ภาคเกษตรไทยยังมีช่องทางขยายการเจริญเติบโตได้อีกมาก เพียงแต่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกร พัฒนาระบบการผลิตให้มีมาตรฐานสากลยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้หลายหน่วยงานให้ความใส่ใจดูแลแก้ไขปัญหานี้อย่างดี จึงเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะนำพาภาคเกษตรไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้นต่อไปในอนาคต
งานศิลปาชีพเพื่อเกษตรไทย ได้รวบรวมความสำเร็จของอาชีพการเกษตรจากเขตปฏิรูปที่ดินทั่วประเทศ และงานศิลปาชีพซึ่งมีหลากหลายแขนงไว้ ณ ที่เดียว ดังนั้น ผู้สนใจไม่ควรพลาด วันที่ 6-8 มีนาคม ณ ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ต.ช้างใหญ่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=191761&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า