เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 52
การแก้ปัญหาทำได้หลายวิธีทั้งปลูกพืชบำรุงใส่อินทรียวัตถุ แต่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน ซึ่งมัน “ไม่ทันกิน” ยิ่งเศรษฐกิจแบบนี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จึงหาแนวทางสร้างธาตุอาหาร ด้วยการเอา รา แบคทีเรีย สาหร่าย พัฒนาเพื่อมาใช้ฟื้นฟูสภาพดิน
นายนววัต สถิตย์เพียรศิริ วิทยากรงานถ่ายทอดเทคโนโลยีปุ๋ยชีวภาพ (วว.) บอกว่า ถ้าใช้ อินทรีย์เข้ามาช่วยระหว่าง “รอ” เกษตรกรจะขาดรายได้เม็ดเงินหดหายไป ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ นักวิชาการศูนย์จุลินทรีย์ (วว.) จึงหาวิธีด้วยการใช้หลัก “ธรรมชาติ” นั่นก็คือเฟ้นหา รา แบคทีเรีย สาหร่าย ซึ่งทำหน้าที่ สร้างปุ๋ย ให้กับพืช พรวนดิน ในป่าตามสถานที่ต่างๆ มาวิจัย ทดสอบ
พร้อมเติมธาตุอาหารเพิ่ม แล้วเอามาทำปุ๋ยชีวภาพ “ไบโอฟอสก้า” จุลินทรีย์สำเร็จรูปจากสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ แล้วนำไปให้ สถานีวิจัยพืชลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา และชาวบ้านใช้ หลังช่วงฤดูเก็บเกี่ยวพบว่า นอกจากอินทรียวัตถุในดินผลิตผลยังเพิ่มขึ้น
นางสมพงษ์ หมายมั่น คนสวน “บ้านลานลม” หมู่บ้านเลือดไทย ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา บอกว่า
แต่ก่อนพื้นที่บริเวณนี้ปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง “ตามมีตามเกิด” พอถึงเวลาเก็บเกี่ยวก็เอาเฉพาะที่ได้เพราะสภาพเป็น “ดินปนหินผุ” ทำ อย่างนี้แบบผ่านไปปีต่อปี ไม่เคยบำรุง ดินเริ่มแย่ลง จึงเปลี่ยนมาปลูกมะม่วงแก้ว พันธุ์ที่ระบบรากดีหากินเก่ง เพื่อต่อตอนกิ่งแต่ก็เอาออกลงไม้ผลพันธุ์ต่างๆ
พอได้มาก็เอาลงดิน “รอดบ้าง ยืนต้นตาย” ก็มี คิดว่า ขาดน้ำ จึงให้เช้าเย็น ตามด้วย ปุ๋ย ไม่กี่วันกลับมาเหมือนเดิม ดินแห้งแข็ง แตกตัวเร็วไม่อุ้มน้ำ ช่วง 4 ปี พอ ได้เก็บลูกไม่มาก พื้นที่บางส่วนปลูกฝรั่งให้ผลผลิตจริง แต่ “รสชาติไม่อร่อยปาก” หากเป็นชาวบ้านทั่วไปก็คง “ไม่คุ้มทุนกับเวลาที่คอย” ยังดีที่เจ้าของเป็นคนใจดี รักต้นไม้ พยายามทุกวิถีทาง ให้มันเติบโตสมบูรณ์ ล่าสุดเอา “ปุ๋ยชีวภาพ” มาให้
สำหรับการใช้ อาจารย์นววัต แนะนำว่า ที่นี่เป็นสวนเริ่มปลูกไม่ได้บำรุงดินมาก ต้นไม้แกร็นไม่โตเต็มที่ ฉะนั้นอันดับแรกต้องแบ่งอายุ 6-12 เดือน สูงไม่เกิน 80 ซม. (กลุ่ม 1) ครั้งที่ 1 ใส่ปุ๋ยชีวภาพอัตรา 1 กก.รอบทรงพุ่มห่างจากโคนประมาณ 20 ซม. ต้นไม้อายุ 12-24 เดือน ความสูงของลำต้น 1.5 เมตร (กลุ่ม 2) ใส่ปุ๋ยชีวภาพ 2 กก.ห่างจากโคน 30 ซม.
และ....ต้นไม้ขนาดอายุ 24 เดือนขึ้น สูง 2 เมตร ที่ควรตัดแต่งกิ่งให้ต้นโปร่ง แสงแดดส่องถึงโคนได้ (กลุ่ม 3) ใส่ปุ๋ยชีวภาพอัตรา 3 กก.ระยะห่างโคนต้น 40 ซม. ทิ้งช่วงห่าง ประมาณ 2 เดือน ให้ปุ๋ยชีวภาพครั้งที่ 2 อัตราเท่าเดิม แต่หนนี้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ควบคู่กันในอัตรา 2, 4 และ 6 ขีด ตามกลุ่ม
พี่สมพงษ์ บอกว่า แค่เอาไปใส่ทิ้งๆ ปล่อยน้ำ แม้ที่นี่มีลมพัดแรงดินก็ยังนิ่มฉ่ำ อุ้มน้ำได้หลายวัน มะม่วง ลำไย ลิ้นจี่ มังคุดที่ปลูกคละกัน จากเดิมเหมือนยืนต้นตาย กลับมาแตกใบอ่อนติดช่อ “เหมือนแข่ง” กันออกดอกต้นเล็กก็ยังมี ปีนี้ถ้าลมไม่แรงพัดช่อร่วง คงได้เก็บผลกันเหนื่อยจนยิ้มไม่ออก
อุแม่เจ้า ทำเป็นบ่นอุบแต่ไหงเห็นแอบนับลูกทั้งที่มีขนาดเท่า “หัวไม้ขีด” เองคุณพี่ขา...สำหรับเกษตรกรรายใด ที่เริ่มสนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.08-1936-5780 ไม่แน่ปีนี้อาจมีโอกาส “งานเข้า” เต็มๆ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=125051