เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 52
ประเทศไทยมีพื้นที่ดินเค็มมากกว่า 21.7 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 17 จังหวัด การทำนาเกลือสินเธาว์แบบนาตาก ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเกลือจากชั้นหินเกลือสู่ผิวดิน และเกิดการแพร่กระจายพื้นที่ดินเค็มอย่างรวดเร็ว ปัญหาดินเค็มส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรลดลง 2-3 เท่า จนถึงไม่ได้รับผลผลิต และจากการประเมินผลกระทบของปัญหาดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 18 ล้านไร่ พบว่า ส่งผลให้ประเทศสูญเสียรายได้กว่า 2,500 ล้านบาท
ดร.เฉลิมพล เกิดมณี นักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค มูลนิธิสถาบัน ราชพฤกษ์ และบริษัทเกลือพิมายจึงร่วมจัดโครงการฟื้นฟูดิน ตาม "โครงการนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็ม" ด้วยการให้เกษตรกรปลูกข้าว ทั้งข้าวเหนียว ข้าวเจ้า และปลูกยูคาลิปตัสร่วมในคันนา พร้อมติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับความเค็มของผลผลิตภายหลังการฟื้นฟู พบว่า การใช้อินทรียวัตถุร่วมกับปูนขาวสามารถเพิ่มผลผลิตของเกษตรกรได้ 1.1-2 เท่า
การประสบความสำเร็จของโครงการทำให้เกษตรกรในจังหวัดสกลนครและอุดรธานียอมรับและเข้าร่วมโครงการมากขึ้น และคาดว่าจะขยายพื้นที่ต้นแบบให้ได้ 4,000 ไร่ ภายในพ.ศ. 2553
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROMFpXTXdNakkyTURJMU1nPT0=§ionid=TURNeU5nPT0=&day=TWpBd09TMHdNaTB5Tmc9PQ==