สตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทานนี้ มีที่มา
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 52
สตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทานนี้ มีที่มา
ผล
สตรอเบอรี่สดและผลิตภัณฑ์แปรรูปของสตรอเบอรี่ ที่มาจากสายพันธุ์พระราชทาน ของโครงการหลวง ถูกนำมาจำหน่ายในงาน โครงการหลวง สตรอเบอรี่แฟร์ 2009 ที่ ดิอีเว้นท์ฮอลล์ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชิดลม ครั้งที่ผ่านมา มีเรื่องราวที่มาน่าสนใจไม่น้อย
ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ หัวหน้าทีมวิจัย
สตรอเบอรี่โครงการหลวงและผู้อำนวยการสถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เล่าถึงที่มาของสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทานว่า มูลนิธิโครงการหลวงหาพันธุ์สตรอเบอรี่มาทดลองปลูกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2515 เพื่อต้องการลดพื้นที่การปลูกฝิ่น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพันธุ์สตรอเบอรี่จากประเทศสหรัฐอเมริกามาให้ทดลองปลูกครั้งแรก รวมถึงสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทานอื่น ๆ เช่น สตรอเบอรี่พันธุ์ 13 สตรอเบอรี่พันธุ์ 16 และสตรอเบอรี่พันธุ์ 20 พระราชทานมาให้ทดลองปลูกเพื่อเข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย พร้อมกับการส่งเสริมแนะนำให้ชาวบ้านปลูกเพื่อลดพื้นที่ปลูกฝิ่นขณะนั้น โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพันธุ์สตรอเบอรี่ให้ชาวบ้านปลูกด้วยพระองค์เองจึงเป็นที่มาของการเรียกขานว่า “สตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน”
หัวหน้าทีมวิจัยสตรอเบอรี่โครงการหลวงเล่าต่อว่า การทดลองปลูกสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทานครั้งแรกเป็นพันธุ์สตรอเบอรี่ สายพันธุ์ 16 ทดลองปลูกครั้งแรกที่สถานีทดลองวิจัยดอยปุย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ดอยสันกู่ ลึกเข้าไปดอยปุย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้น ได้นำสายพันธุ์สตรอเบอรี่เข้ามาใหม่แล้วนำมาผสมพันธุ์ ตอนนี้โครงการหลวงมีสตรอเบอรี่สายพันธุ์พระราชทาน 72 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตรงกับปีที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา ในปี พ.ศ. 2542, สตรอเบอรี่สายพันธุ์ 60 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานในปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี 2549 และสตรอเบอรี่สายพันธุ์ 80 ได้รับพระราชทานในปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนม พรรษา 80 พรรษา ปี พ.ศ. 2550
“สายพันธุ์สตรอเบอรี่ที่เราคัดเลือกพันธุ์ขึ้นมาและผสมพันธุ์ขึ้นเอง ได้สตรอเบอรี่ที่มีรสหวานขึ้นโดยนำสตรอเบอรี่ที่นำมาจากต่างประเทศมาผสมพันธุ์ มีการวิจัยและได้สตรอเบอรี่พันธุ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา ตอนนี้มีสตรอเบอรี่สายพันธุ์พระราชทานเกือบ 10 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีความต่างกันยกตัวอย่างเช่น สตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 70 มีความนิ่ม หอม หวาน แต่มีปัญหาด้านการขนส่ง เวลาขนส่งเข้ากรุงเทพฯ ผลผลิตเสียหาย เพราะผลนิ่ม ส่วนสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 50 ผลแข็ง แต่เปรี้ยว เหมาะกับการแปรรูปเป็นน้ำสตรอเบอรี่ เป็นแยมตอนนี้เลิกปลูกแล้ว สตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 72 ลูกเล็ก สีแดง รสชาติไม่หวานจัด สตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 60 เป็นพันธุ์ที่มี ลูกดก ลักษณะคล้ายรูปหัวใจสวยมาก รสชาติออกเปรี้ยวนิดหนึ่ง แต่กลิ่นหอม ส่วนสตรอเบอรี่พันธุ์ 80 ล่าสุดลูกใหญ่ สวย สีแดง มีรสชาติหวานมาก” ดร.ณรงค์ชัย ยกตัวอย่างลักษณะเด่นของสตรอเบอรี่ พันธุ์พระราชทาน
ในด้านการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตนั้น ดร.ณรงค์ชัยให้ความ รู้ว่า โครงการหลวงมีพื้นที่ 38 ดอย มีชาวเขา 38 ศูนย์ที่ปลูกสตรอเบอรี่อยู่บ้าง ในพื้นที่ 100 ไร่ เป็นพื้นที่สำหรับปลูกสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน ส่วนพื้นที่เพาะปลูกสตรอเบอรี่ในประเทศไทยมีทั้งหมด 2,500 ไร่ การปลูกสตรอเบอรี่ ของโครงการหลวงจะพิถีพิถันตั้งแต่การเตรียมแปลง มีการยกแปลงปลูกให้สูงขึ้น ผลสตรอเบอรี่ที่ออกจะนำใบตองตึงมารองเพื่อให้ผลสตรอเบอรี่สะอาดเพราะไม่มีการสัมผัสดิน เก็บเกี่ยวง่าย ผลผลิตมีคุณภาพและรสชาติดี เพราะโดนแสงแดดเต็มที่ ขณะเดียวกันมีการพยายามใช้สาร อินทรีย์แทนสารเคมี ปลูกในแบบกึ่งออร์แกนิค ยืนยันว่าปลอดภัยจากสารเคมี ส่วนการปลูกนั้นจะเริ่มใน เดือนกันยายน จากนั้นประมาณ 2 เดือน จะเก็บผลผลิตได้ในเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม และผลผลิตของสตรอเบอรี่ โครงการหลวง มีปริมาณ 60-70 ตัน ในพื้นที่ 70-80 ไร่ สร้างมูลค่าเกือบ 10 ล้านบาทต่อปี
ดร.ณรงค์ชัยให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์และเคล็ดลับในการกินสตรอเบอรี่ด้วยว่า สตรอเบอรี่ มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระมากและมีกรดฟอลิค มีประโยชน์สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ ช่วยป้องกันไม่ให้ทารกในครรภ์สมองพิการได้ ส่วนการนำสตรอเบอรี่มาทาน หากมีความกลัวเรื่องสารเคมี ควรล้างน้ำให้สะอาด ถ้าจะนำสตรอเบอรี่ไปแช่ตู้เย็น ก่อนทานควรนำผลสตรอเบอรี่ออกวางไว้เพื่อให้ผลสตรอเบอรี่ปรับตัวเข้ากับอุณหภูมิภายนอก ประมาณ 10-20 นาที จะทำให้สตรอเบอรี่มีรสชาติหวานขึ้น หากทานแบบเย็นจะทำให้ได้รสชาติเปรี้ยว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=191863&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า