เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 52
อาชีพทำนาเพียงอย่างเดียวรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของสมาชิกในครอบครัว เหตุผลพื้นๆนี้เป็นแรงผลักให้ "ชัยยา มงคลศิลป์" วัย 43 ปี เกษตรกรชาว ต.มาบโป่ง อ.พานทอง จ.ชลบุรี
ดิ้นรนหาอาชีพเสริม และการเพียรหาความรู้อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับ "เห็ดฟาง" พร้อมลงมือทำจริงด้วยแบ่งพื้นที่นา 2 ไร่ สร้างโรงเรือนเพาะจำหน่าย ทำให้วันนี้เขายืนด้วยลำแข้งได้อย่างมั่นคง เพราะรายได้ที่เข้ามาถึงเดือนละ 3-4 หมื่นบาท
"ชัยยา" เล่าถึงที่มาก่อนเพาะเห็ดฟางขายว่า ยึดอาชีพทำนาบนพื้นที่ 6 ไร่ แต่พอสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวไม่มีอะไรทำก็ตระเวนออกทำงานรับจ้างทั่วไป แต่ระยะหลังผลผลิตจากนาข้าวมีปัญหา ราคาตกต่ำ อีกทั้งต้นทุนการผลิตสูงขึ้น หลายครั้งขาดทุน จึงทำให้คิดหาอาชีพเสริม กระทั่ง อบต.มาบโป่ง จัดประกวดความสำเร็จในการประกอบอาชีพของแต่ละหมู่บ้าน เขาได้ไปร่วมงานด้วย และสนใจอาชีพเพาะเห็ดฟาง จึงสอบถามและเรียนรู้จากเกษตรกรผู้ประสบความสำเร็จ
"กลับถึงบ้าน รุ่งขึ้นผมตัดสินใจควักเงินเก็บที่มีอยู่ราว 3 หมื่นบาท สร้างโรงเรือนเลย จากนั้นไปหาซื้อเชื้อเห็ดมาเพาะ ใส่ปุ๋ยยูเรียเต็มที่ ทำตามขั้นตอนทุกอย่าง แต่ไม่รู้พลาดตรงไหน ผลคือล้มเหลวไม่เป็นท่า เห็ดไม่เกิดเลย ขาดทุนยับ" ชัยยา เล่าถึงความล้มเหลวครั้งแรก เมื่อปี 2548
เมื่อเงินเก็บไม่เหลือหรอ ด้วยไม่อยากเป็นหนี้ใคร ชัยยาจึงหาทางออกด้วยการตระเวนรับจ้างทาสีบ้านอยู่ราวปีเศษ เพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว และเพื่อเป้าหมายในการเพาะเห็ดฟางต่อ จึงกันเงินส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นทุน ต่อเมื่อกลับบ้านจึงหุ้นกับน้องชายสานต่ออาชีพเพาะเห็ดฟางอีกครั้ง
"ครั้งนี้ลงทุนเพียง 3,000 บาท เพราะโรงเรือนมีอยู่แล้ว ออกหาข้อมูล ลงพื้นที่ไปดูการปลูกเห็ดฟางจริงในหลายพื้นที่ หลายแห่งปิดบังข้อมูล บอกไม่หมด จึงต้องหาประสบการณ์ด้วยตนเอง และจึงรู้ว่าครั้งแรกที่ล้มเหลวนั้นเพราะใส่ปุ๋ยยูเรียมากไป" ชัยยา เล่า ซึ่งนั่นทำให้เขาต้องหันมาเอาใจใส่เรื่องของปุ๋ย ตลอดจนรายละเอียด อาทิ อุณหภูมิการอบ การให้ความร้อนการฆ่าเชื้อ การให้น้ำที่อุณหภูมิพอเหมาะ เป็นต้น
เมื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้ ครั้งนี้ทำให้เขาประสบผลสำเร็จ จากโรงเรือนเดียวใช้เวลาเดือนเศษทำกำไรได้ 3,000-4,000 บาท นั่นทำให้ชัยยาขยายโรงเรือนจาก 1 หลัง เพิ่มเป็น 20 หลัง ขนาด 4x6 เมตรในพื้นที่ 2 ไร่ เมื่อปี 2550 คราวนี้เหลือเงินหลังหักค่าใช้จ่ายถึงเดือนละ 3-4 หมื่นบาท
ส่วนเชื้อเห็ดฟางที่นำมาเพาะนั้น จะมีผู้มาส่งให้จาก จ.พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลำปาง ส่วนตลาดจะมีผู้มาซื้อถึงบ้าน ราคาขึ้นอยู่กับผลผลิตมากน้อยในแต่ฤดูกาล แต่ราคาส่งต้องไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 50 บาท ไม่เช่นนั้นขาดทุน
กว่า 3 ปีแล้วที่ชัยยายึดอาชีพเพาะเห็ดฟาง ถึงวันนี้นอกจากมีรายได้เดือนละ 3-4 หมื่นบาทแล้ว เขายังเป็นผู้ประสานให้แก่เกษตรกรที่ต้องการเพาะเห็ดฟาง ทั้งเชื้อเห็ด ปุ๋ย ทุกวันนี้สภาพชีวิตดีขึ้น มีทั้งบ้าน รถยนต์ สำหรับคนบ้านนอกก็มีความสุขแล้ว
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.komchadluek.net/2009/02/26/x_agi_b001_339079.php?news_id=339079