กล้วยหอมทองอินทรีย์ไทย ยังเป็นที่ต้องการของญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 52
กล้วยหอมทองอินทรีย์ไทย ยังเป็นที่ต้องการของญี่ปุ่น
วันก่อนนายชาติชาย พุคยาภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมขบวนการผลิต
กล้วยหอมทองปลอดสารพิษเพื่อการส่งออก ของสหกรณ์การเกษตร ท่ายาง จำกัด จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นสหกรณ์ที่สามารถส่งออกกล้วยหอมทองปลอดสารพิษไปยังประเทศญี่ปุ่น เป็นระยะเวลานานถึง 17 ปี โดยมีการดำเนินงานที่เป็นระบบ
เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกสมาชิกเข้าร่วมโครงการ การวางแผนการผลิตให้แก่สมาชิก การจัดเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้และความชำนาญ เข้าไปดูแลตั้งแต่การเตรียมดินสำหรับการเพาะปลูก จนถึงการเก็บผลผลิต รวมทั้งมีการประกันราคาผลิตผล ส่วนทางด้านการตลาด ได้มีการติดต่อและทำสัญญาซื้อ-ขาย ระหว่างสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด กับสหกรณ์ผู้บริโภคโตโต้ ประเทศญี่ปุ่นโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางหรือบริษัทส่งออก ทำให้การผลิต
กล้วยหอมทองปลอดสารพิษมีคุณภาพตามความต้องการของผู้ซื้อ ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรแล้ว ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงอีกด้วย
ในระหว่างการตรวจเยี่ยมนายชาติชาย เปิดเผยว่า เนื่องจากขณะนี้การดำเนินงานสหกรณ์การ เกษตรหลายแห่งประสบความสำเร็จ จึงให้นโยบายกรมส่งเสริมสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่ง ดำเนินการพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนสหกรณ์การเกษตรที่มีความพร้อมและศักยภาพให้สู่เวทีโลก ทั้งในด้านวิชาการ การผลิต การแปรรูป การตลาด และเงินทุน โดยดูตัวอย่างสหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาขบวนการสหกรณ์ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่สหกรณ์ต่าง ๆ อันจะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและแรงงานของประเทศต่อไป
สำหรับการผลิตกล้วยหอมทองปลอดสารพิษเพื่อการส่งออกของเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ท่ายาง จำกัด ก็ดำเนินการตามที่สหกรณ์ผู้บริโภค โตโต้ ประเทศญี่ปุ่น ได้กำหนดเงื่อนไขในการผลิตกล้วยหอมทอง คือจะต้องเป็นการผลิตที่ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี และไม่ฉีดพ่นสารเคมีโดยเด็ดขาด ซึ่งจะทำ ให้ได้กล้วยที่ปราศจากสารมีพิษ ขนาดของผลผลิตกล้วยหอมทอง จะต้องมีขนาดลูกละไม่ต่ำกว่า 100 กรัม สีผิวของกล้วยไม่ช้ำ เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภคประเทศญี่ปุ่น จะต้องไม่สุกก่อนที่ส่งไปถึงประเทศญี่ปุ่น ถ้ากล้วยสุกจะถูก ห้ามนำเข้าและต้องนำไปทิ้ง ซึ่งเป็นมาตรการในการป้องกันศัตรูพืชของประเทศญี่ปุ่น ความแก่ของกล้วยอยู่ที่ประมาณ 70% ต้องปราศจากศัตรูพืชหรือโรคแมลง ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ด่านกักกันพืชของประเทศญี่ปุ่นตรวจพบแม้เพียงกล่องเดียว ก็ต้องรมควันฆ่าเชื้อทั้งหมด ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อการรมควัน โดยจ่ายฝ่ายละครึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด
การเพาะปลูกในแต่ละเดือน
กล้วยหอมทองจะมีอายุการให้ผลผลิตนับตั้งแต่การเพาะปลูกประมาณ 9-11 เดือน เพราะฉะนั้นการเพาะปลูกจะต้องวางแผนล่วงหน้าประมาณ 1 ปี กล้วยหอมทอง 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 400 ต้น จะให้ผลผลิตประมาณ 3 ตัน แต่สหกรณ์ต้องส่งออกเดือนละ 30 ตัน ดังนั้น สหกรณ์จะต้องปลูกกล้วยหอมทองถึงเดือนละ 10 ไร่ จึงจะให้ผลผลิต 30 ตัน แต่ในความเป็นจริงแล้วกล้วยหอมทองไม่สามารถให้ผลผลิตตามขนาดที่ต้องการได้พร้อมกันทุกต้น สหกรณ์จะเลือกต้นที่มีผลผลิตที่เหมาะสมเพื่อการส่งออกเท่านั้น แต่ในพื้นที่ 1 ไร่ สามารถตัดกล้วยหอมทองได้หมดภายใน 3 เดือน เพราะฉะนั้นเพื่อให้ได้ผลผลิตตามปริมาณที่ต้องการ สมาชิกจะต้องปลูกกล้วยหอมทองประมาณ 30 ไร่ ในแต่ละเดือน
ส่วนพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูก คือ ต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่มีลมแรง ถ้ามีลมแรงความเร็วประมาณ 40-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะทำให้เกิดความเสียหายบริเวณโคนต้นกล้วยได้ ถ้าความเร็วลมตั้งแต่ 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป จะทำให้ต้นกล้วยหักล้มลงทันที ดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำที่สามารถนำมาใช้การได้ในกรณีฝนทิ้งช่วง หรือกรณีฝนตกมากเกินไป ต้องมีทางระบายน้ำได้ด้วย อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตไม่ควรต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส และไม่ควรสูงกว่า 35 องศาเซลเซียสใช้พันธุ์พื้นเมืองในการเพาะปลูก ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตที่สูง มีรสชาติอร่อย หอมหวาน และผลโต โดยสมาชิกได้ใช้หน่อในการขยายพันธุ์ ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนพันธุ์ระหว่างเกษตรกรด้วยกัน หรือซื้อขายหน่อพันธุ์ในอัตราหน่อละ 3-4 บาท ปลูกแบบไถเป็นร่อง โดยการใช้รถไถหรือแรงงานคน ทำเป็นร่องกว้างประมาณ 50-100 เซนติเมตร มีความลึกประมาณ 30-50 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างท้องร่องของแต่ละแถว 2 เมตร การปลูกจะนำหน่อกล้วยปลูกในท้องร่อง ระยะห่างระหว่างต้นและระหว่างแถว 2x2 เมตร
การบรรจุกล่อง โดยการรองด้วยโฟมอ่อน บรรจุลงกล่องกระดาษลูกฟูกแข็งขนาด 32x 50x22 เซนติเมตร กล่องละ 12 กิโลกรัม จากนั้นขนย้ายเข้าห้องเย็นที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส เพื่อรอการขนส่งไปยังประเทศญี่ปุ่นต่อไป และปัจจุบันความต้องการซื้อกล้วยหอมทองจากญี่ปุ่นยังมีอย่างต่อเนื่องและแนวโน้มมีความต้องการเพิ่มขึ้นอีกด้วย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=191863&NewsType=1&Template=1
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ทางเลือก-ทางรอดเกษตรกรรมไทยในปี 2553
มันสำปะหลังทุบสถิติส่งท้ายปี สูงเกินราคาประกันรัฐบาล คาดปีหน้ายังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง
เตือนภัย เพลี้ยแป้งระบาดในมันสำปะหลัง
อียูลดค่าสีผสมอาหาร 3 ชนิด
สศก.เปิดเผยศึกษาลำไยนอกฤดู ยันเกษตรกรได้รับผลคุ้มค่า แนะตั้งกลุ่มส่งเสริมจริงจัง
โอกาสของเกษตรกรรายย่อยในการรับรองฟาร์มแบบกลุ่ม
มะนาวพันธุ์ 'แป้นดกพิเศษ' ดกกว่าพันธุ์แป้นรำไพ 2-3 เท่า